บรรยากาศของงานบุญหรืองานวัดที่คึกคักที่สุด คงไม่มีวันใดที่จะมีกิจกรรมต่างๆมากมายเท่ากับวันเข้าพรรษา ตอนที่ผมเป็นเด็กๆ ช่วงวันเข้าพรรษาจะเป็นวันที่มีโอกาสได้เห็นกิจกรรมทั้งในโรงเรียนและที่วัด เด็กๆส่วนใหญ่มักจะชอบ เพราะมีโอกาสได้ดูการแห่แหนด้วยขบวนต่างๆตามท้องถนน เช่นการแห่นาคของพระบวชใหม่ ที่ถือเอาวันเข้าพรรษา เป็นช่วงเวลาถือบวชสำหรับชายไทยที่มีอายุครบ 25 ปี หรือที่เรียก ว่า "วัยเบญจเพศ" คนไทยสมัยก่อนมักนิยมให้ลูกชายบวชเรียนในวัยนี้ เป็นการเพาะบ่มจิตใจตามประเพณีของชาวพุทธ เพื่อนำเอาหลักธรรมที่ศึกษาไปใช้ในการดำรงชีวิต ที่คนสมัยก่อนถือว่าเป็นคนสุก คือได้ผ่านการนุ่งเหลืองห่มเหลืองมาเรียบร้อยแล้ว
ที่โรงเรียนก็จะมีกิจกรรมทางศาสนา ให้นักเรียนร่วมกันหล่อเทียนพรรษา และประดับตกแต่งให้ดูสวยงามก่อนที่จะนำไปถวายวัด ซึ่งปกติก็จะนำไปวัดที่อยู่ใกล้โรงเรียน โดยนักเรียนจะเดินเป็นแถวเป็นระเบียบไปตามท้องถนน เด็กส่วนใหญ่จะชอบวันนี้เพราะถือเป็นวันที่หยุดเรียน หลังเสร็จพิธีแล้วทางโรงเรียนก็มักปล่อยให้กลับบ้าน
ในฤดูเข้าพรรษาจะเห็นการแห่นาคและแห่เทียนพรรษาของโรงเรียน หรือของหน่วยงานต่างๆไปตามท้องถนนที่จัดกันเป็นประจำทุกปี ระหว่างทางก็จะถือโอกาสเรี่ยไรเงินจากชาวบ้าน ขบวนไหนมีทุนมากหน่อยก็จะตกแต่งริ้วขบวนกันสวยงาม ฉิ่งฉับกลองยาว ก็จะตีกันอึกทึกคึกโครมเป็นที่สนุกสนาน เด็กๆที่ได้ยินเสียงก็วิ่งมาดูด้วยความสนใจ ส่วนที่จะตื่นกลัวก็เป็นพวกสุนัขที่เห่าหอน แข่งกับเสียงกลองยาว บางตัวก็วิ่งหนีแบบไม่คิดชีวิต
บางท้องที่อาจสร้างสีสันให้กับขบวนด้วยการทำหัวโต หรือสัตว์ชนิดต่างๆโดยมีคนอยู่ข้างในสัตว์นั้นๆ เด็กๆรุ่นผมตอนนั้นกลัวเจ้าหัวโตค่อนข้างมาก เพราะเค้าทำหัวใหญ่จำนวนหลายหัว เห็นถนัดกันมาแต่ไกล เวลาเดินก็จะโยกหัวส่ายไปตามจังหวะกลองยาว ขบวนนี้ผ่านมาทีไรก็เห็นทีต้องเผ่นเข้าบ้าน แล้วไปแอบดูตามรอยแตกข้างฝา ไม่ต่างอะไรกับคนเห็นผี
ที่บ้าน ในช่วงเข้าพรรษาจะเป็นเวลาที่ทุกคนในบ้านจะพร้อมหน้าพร้อมตากันเตรียมของไปทำบุญ ผู้ใหญ่ก็จะเตรียมทำขนมทำกับข้าว เด็กๆก็มีหน้าที่ช่วยงานเล็กๆน้อยๆ เช่นตัดใบตองเพื่อนำมาห่อขนม หรืออาจช่วยผู้ใหญ่โม่แป้ง ซึ่งบ้านแต่ละหลังจึงมีแต่ความคึกคักไม่แพ้กัน ตอนบ่ายๆหรือเย็นๆก็จะตลบอบอวลไปด้วยกลิ่นขนมที่หอมลอยมาจากเตา ซึ่งตามประเพณีมักนิยมทำข้าวต้มมัด หรือขนมประเภทที่ห่อใบตอง เช่นขนมกล้วย ขนมใส่ใส้ ขนมเทียน พวกเด็กๆก็จะมีโอกาสได้ทานขนมกันอย่างเต็มอิ่มในช่วงงานบุญแบบนี้ ในการทำอาหารหวานคาวหรือขนมชนิดต่างๆเพื่อนำไปทำบุญนั้น ผู้หลักผู้ใหญ่จะพิถีพิถันและให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เช่นการคัดสรรของที่มีคุณภาพ สะอาด และต้องดี ยังจำคำพูดของคุณย่าที่เคยพูดไว้ว่า
"ของดีๆเสียๆเอาไว้กิน ของดีๆเอาไว้ขาย ของวิเศษเอาไว้ถวาย"
เป็นคำกล่าวที่ถือว่าคนสมัยก่อนให้ความสำคัญกับวัด กับพระสงฆ์ไว้อย่างสูงส่ง โดยถือว่าการทำเช่นนี้จะได้รับบุญอัน ประเสริฐ และสิ่งมีค่าต่างๆก็มักนำมาถวายให้กับวัด วัดจึงเปรียบเสมือนเป็นพิพิธภัณฑ์ของชาวบ้าน
ในวันรุ่งขึ้นทุกคนจะแต่งตัวสวยงามเพื่อออกไปทำบุญพร้อมกันที่วัด ก่อนออกจากบ้านพวกเด็กๆก็มีหน้าที่ไปเก็บดอกไม้ที่มีอยู่แถวๆบ้านให้ผู้ใหญ่นำไปห่อกับใบตอง รวบรวมกับธูปเทียนและจัดเป็นชุดเป็นกระทงตามจำนวนของสมาชิกที่ไปทำบุญ เมื่อของทุกอย่างนำมาวางรวมกันที่หน้าบ้าน ผู้เป็นพ่อก็ทำพิธีเล็กน้อยคือนำปิ่นโตหรือภาชนะที่ใส่อาหารยกขึ้นมาจบเหนือศรีษะแล้วอธิษฐานก่อนที่จะนำไปที่วัด
บรรยากาศของงานบุญในฤดูเข้าพรรษาของปัจจุบันอาจมีความแตกต่างไปตามยุคตามสมัย แต่คิดว่าในต่างจังหวัด ก็ยังคงมีบรรยากาศตามที่กล่าวมา และสิ่งที่ดูจะเหมือนๆกันก็คือตามวัดต่างๆก็ยังมีกิจกรรมและจัดงานเนื่อง ในวันเข้าพรรษากันอย่างคึกคัก วัดประทุมวนารามที่อยู่ใจกลางกรุงเทพ ก็จัดให้มีกิจกรรมวันเข้าพรรษาเช่นเดียวกับวัดทั่วๆไป แต่ปีนี้พิเศษกว่าทุกปีที่ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุจากประเทศศรีลังกามาให้ประชาชนสักการะเป็นเวลา 73 วัน เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
ผมมีโอกาสขับรถผ่านหน้าวัดในวันเสาร์ ที่ 3 ก.ค.2547 ซึ่งเป็นวันเข้าพรรษา เลยถือโอกาสเข้ามาเก็บภาพบรรยากาศในช่วงระยะเวลาสั้นๆ
วัดปทุมวนารามสร้างในสมัยรัชกาลที 4 เพื่อพระราชทานแด่สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี และพระราชทานนามว่า "วัดปทุมวนาราม" เพื่อให้คล้องตามชื่อบริเวณที่ตั้งของวัดที่เรียกว่า "ปทุมวัน " ปัจจุบันมีพระเทพปัญญามุัณีเป็นเจ้าอาวาส และีพระพิสาลพัฒนาธรหรืออีกในนามหนึ่งว่า ท่านอาจารย์ถาวร จิตถาวโร เป็นรองเจ้าอาวาส
วัดนี้เป็นวัดไม่ใหญ่นัก มีโบสถ์วิหารเพียงไม่กี่หลัง แต่ก็มีสถานที่ร่มรื่นกว่าวัดทั่วๆไป หากใครกำลังคิดอยากจะหาวัดสักแห่งเพื่อมาทำบุญในย่านกลางเมือง ก็อยากแนะนำให้มาที่วัดนี้ เพราะบรรยากาศดูแล้วน่าศรัทธา น่าเลื่อมใส สภาพแวดล้อมมีแต่ต้นไม้ดูร่มเย็นและสงบเงียบ จนแทบไม่น่าเชื่อว่าเป็นวัดที่อยู่กลางกรุง
เว็บมาสเตอร์
โฟโต้ออนทัวร์
การถ่ายภาพ
ภาพส่วนใหญ่ถ่ายด้วยกล้องดิจิตอล Sony Cybershot DSC-P 10 set กล้องแบบปกติ ไม่มีอะไรเป็นพิเศษ โดยถ่าย ควบคู่ไปกับกล้อง Nikon F 90 ที่ใช้ฟิล์มสไลด์ Fuji Velvia จุดประสงค์ก็เพื่อดูความแตกต่างของภาพ แต่ก็น่าเสียดาย ที่มีอยู่ม้วนหนึ่งเผลอไปเปิดฝากล้องโดยที่ลืมกรอฟิล์มกลับ ซึ่งก็เสียไปทั้งม้วน ภาพชุดนี้จึงมีภาพสไลด์เพียงนิดหน่อย |