Royal Ploughing day
พิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ
(บันทึก13 พค.56)
พิธีแรกนาขวัญหรือพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ซึ่งจัดให้มีขึ้นในวันพืชมงคลของทุกปี และแต่ละปีก็ไม่ได้กำหนดตามวันปฏิทินเหมือนกับวันหยุดนักขัตฤกษ์อื่นๆ แต่รัฐบาลจะประกาศให้ทราบล่วงหน้าเป็นปีๆไป เช่นปี 2555 กำหนดเป็นวันที่ 9 พฤษภาคม
และปี 2556 กำหนดเป็นวันที่ 13 พฤษภาคม เป็นต้น เข้าใจว่าผู้ที่กำหนดวันเวลาของพิธีนี้น่าจะมาจากการดูฤกษ์ยามของสำนักพราหมณ์หลวงซึ่งเป็นผู้ดำเนินการทางพิธีพราหมณ์
คำว่า“พราหมณ์หลวง“ หรือ “ปุโรหิต” บางคนอาจงงว่าสมัยนี้ยังมีอยู่หรือ ก็ต้องตอบว่ายังมีอยู่ เพียงแต่ว่าบทบาทและหน้าที่นั้น บุคคลภายนอกอาจไม่ค่อยทราบกันนัก
สมัยโบราณพิธีแรกนาขวัญจะเป็นพิธีทางพราหมณ์ แต่เมืองไทยเราได้ผสมผสานให้มีพิธีสงฆ์ด้วย โดยจะมีพิธีสงฆ์ในวัดพระศรีรัตนศาสดารามก่อนวันพืชมงคล 1 วัน เรียกพิธีสงฆ์นี้ว่า "พิธีพืชมงคล" ส่วนการไถหว่านที่ลานท้องสนามหลวงในวันถัดมาเรียกว่า "พิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ" เป็นการแยกแยกพิธีสงฆ์และพิธีพราหมณ์ไว้คนละวันกัน
คำว่าพราหมณ์ก็คือผู้ที่มีหน้าที่จัดการเรื่องพิธีกรรมต่างๆของศาสนาฮินดู อาจแปลกใจว่าทำไมพิธีพราหมณ์(ของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู)จึงมาเกี่ยวข้องกับพระราชพิธี ทั้งๆที่เป็นคนละศาสนากัน ก็ต้องตอบว่าเป็นประเพณีเก่าแก่ที่มีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยแล้ว พิธีการต่างๆของกษัตริย์ไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันก็ต้องมีพิธีพราหมณ์เข้ามาเกี่ยวข้องเสมอ
พิธีพราหมณ์ที่เกี่ยวข้องงานพระราชพิธีของไทยนั้น เป็นอิทธิพลที่ได้รับมาจากขอม เพราะดินแดนประเทศไทยในอดีตก็คือส่วนหนึ่งของอาณาจักรขอมที่มีศูนย์กลางอยู่ที่เขมร พวกขอมในอดีตหรือขอมที่อยู่ในดินแดนไทย จึงไม่ต่างกับเป็นปู่ย่าตาทวดและเป็นบรรพบุรุษของคนในยุคกรุงสุโขทัย ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการตั้งราชอาณาจักรไทยหรือเมื่อราว 764 ปีก่อน(สถาปนาพ.ศ.1792)
เมืองไทยมีปราสาทขอมตั้งมากมายเช่น ปราสาทศรีเทพเมืองเพชรบูรณ์ ปราสาทหินพิมายจังหวัดนครราชสีมา ปราสาทพนมรุ้งจังหวัดบุรีรัมย์ ปราสาทเมืองสิงห์จังหวัดกาญจนบุรี ฯลฯ
เมื่อเป็นเช่นนี้บรรพบุรุษของไทยก็คือคนขอมทั้งนั้น
ความจริงประเทศไทยและคนไทยก็ได้รับอิทธิพลมาจากขอมโบราณ เพียงแต่ว่าขอมหรือเขมรในปัจจุบันกลายเป็นประเทศเล็กๆ แถมยังทะเลาะกับไทยเป็นประจำ คนไทยส่วนใหญ่จึงไม่อยากจะมาลำดับนับเป็นญาติกัน แต่ความจริงก็คือความจริง เพราะบรรพบุรุษของไทยก็สืบเชื้อสายมาจากขอมบ้าง มอญบ้าง ลาวบ้าง และอาณาจักรขอมในอดีตถือว่ามีความยิ่งใหญ่ โดยเฉพาะปราสาทหินและลวดลายสลักนูน-ต่ำที่มีความงดงามมาก
คนไทยในยุคต่อๆมาจึงรับเอาศิลปวัฒนธรรมของขอมมาไม่ไช่น้อย เช่นภาษาพูด ภาษาเขียน ท่าร่ายรำของนาฏศิลป์ต่างๆก็มาจากขอม เพลงไทยเดิม เพลงเก่าเพลงแก่เช่นเพลงเขมรไทรโยค (ชื่อก็บอกแล้ว) หรือพวกเพลงเถาต่างๆก็มาจากเขมร
ส่วนเขมรเองกลับไม่มีเพลงไหนที่เอาต้นแบบมาจากเพลงไทยเลย
ขอมเมื่อราว 1 พันปี ก็คือเชื้อสายเขมรในปัจจุบัน และในยุคอาณาจักรขอมเราก็ทราบกันอยู่แล้วว่าเป็นผู้ที่นับถือศาสนาฮินดูหรือพราหมณ์ แต่ศาสนาฮินดูนั้นมีเทพหลายองค์ อยู่ที่ว่าใครจะนับถือเทพองค์ไหน
สำหรับเทพของขอมที่เห็นชัดเจนก็คือ ศิวลึงค์ และพระนารายณ์
ศิวลึงค์นั้นเปรียบเสมือนเป็นตัวแทนของพระอิศวร ใครไปเขมรก็จะเห็นว่าในเขตพระนครหรือ Angkor ที่เมืองเสียมเรียบนั้น มีหินสลักเป็นรูปโยนีกับศิวลึงค์อยู่มากมายหลายแห่ง ทั้งบนปราสาท บนพื้นดินที่หักพังลงมา และยังมีที่ในน้ำบนเขาพนมกุเลนซึ่งเป็นต้นสายแม่น้ำเสียมเรียบ ฮินดูพวกนี้ถือว่าการสมสู่ของหญิงและชายเป็นการกำเนิดของโลกและจักรวาล จึงมีการสลักอวัยเพศหญิงและชายหรือรูปโยนีและศิวลึงค์ เพื่อเป็นการสักการะบูชา
ศาสนาฮินดูและความเชื่อต่างๆในยุคขอมนั้นได้แผ่ขยายมาจากอินเดีย
หากใครยังพอจำได้กับเรื่องราวของประเทศอินเดียว่ามีการแบ่งชนชั้นของพลเมืองออกเป็น 4 วรรณะได้แก่
1 วรรณะพราหมณ์ (ทำหน้าที่ติดต่อเทพเจ้าเจ้าเทวดา สั่งสอน สืบต่อศาสนา-ฮินดู)
2 วรรณะกษัตริย์ (ผู้ปกครอง ทำศึก ป้องกันบ้านเมือง ออกรบ)
3 วรรณะแพศย์ (พ่อค้า เกษตรกร ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ)
4 วรรณะศูทร (กรรมกร ทาส เป็นคนพื้นเมืองดั่งเดิม)
จะเห็นว่าวรรณะพราหมณ์อยู่สูงกว่ากษัตริย์ และหากจะเปรียบกับพุทธศาสนาแล้ว “ พราหมณ์ก็คือพระสงฆ์ “ เพียงแต่ว่าบทบาทของพราหมณ์ในศาสนาฮินดูจะทำหน้าที่เป็นผู้ติดต่อกับเทพเจ้าหรือเหล่าเทวดา และยังทำหน้าที่สั่งสอนประชาชน ส่วนพระสงฆ์ในพุทธศาสนามีหน้าที่สั่งสอนแต่เพียงอย่างเดียว พระสงฆ์องค์ไหนทำหน้าที่ติดต่อกับเทพเทวดาก็แสดงว่าไม่ใช่พระสงฆ์ในพุทธศาสนา ถือว่าเป็นพวกนอกรีตนอกรอย และในทางพุทธก็ไม่มีเทวดาให้นับถือ
ความหมายของเทพเทวดาในทางพุทธศาสนานั้นก็เพื่อใช้ในเชิงเปรียบเทียบของสภาวะทางจิต หรือเป็นอุบายให้คนทำความดี ทำดีแล้วชาติหน้าจะได้เกิดเป็นเทวดาอะไรทำนองนั้น ซึ่งแท้ที่จริงแล้วมันก็คือความสุขทางใจ(ระดับหนึ่ง)เท่านั้นเอง จะเรียกว่าระดับเทวดาก็ได้ ในทางตรงกันข้ามหากทำความชั่วก็ถือว่ามีจิตใจอยู่ในระดับต่ำ เช่น เป็นเปรตบ้าง เป็นอสูรกายบ้าง ซึ่งก็เป็นภาวะทางจิต(ขั้นต่ำ)
เทวดาในความหมายของพุทธศาสนาจึงไม่มีตัวตน(เปรตก็ไม่มีตัวตน) แต่คนส่วนใหญ่มักไม่เข้าใจ จึงไหว้วอนขอพรจากเทวดาอยู่ร่ำไป ซึ่งไม่ได้ประโยชน์อะไร ไม่ต่างกับไหว้ต้นไม้หรือไหว้ก้อนหิน
พระสงฆ์ในบ้านเราจำนวนไม่น้อยที่ไม่รู้จักหน้าที่ แต่ทำหน้าที่ติดต่อเทพเทวดา มีการอัญเชิญเทวดาให้มาร่วมในพิธีกรรมต่างๆ(เทวดาจะเสด็จมาหรือเปล่าก็ไม่แน่ใจ) ที่เห็นชัดเจนก็คือพิธีหล่อพระพุทธรูป หรือพิธีกรรมอื่นๆที่โยงสายสิญจน์ระโยงระยางให้ดูขลัง หรือดูศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งพิธีกรรมทางความเชื่อเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องของพุทธแต่เป็นเรื่องของพราหมณ์
พราหมณ์ในสมัยโบราณมีบทบาทต่อกษัตริย์ไม่ใช่น้อย กษัตริย์จะทำกิจกรรมใดๆก็ต้องดูฤกษ์ดูยาม เช่นจะเสด็จไปที่ต่างๆ หรือเสด็จไปต่างประเทศ ก็ต้องให้พราหมณ์หลวงหรือโหรหลวงหาฤกษ์หายาม หรือใครจะเข้าพบกษัตริย์ก็ต้องให้โหรหลวงดูฤกษ์ว่าจะให้เข้าพบได้ในวันไหน เวลาไหน
เรียกว่าทุกย่างก้าวของพระมหากษัตริย์ต้องให้พราหมณ์หลวงเป็นผู้กำหนดทั้งนั้น หากจะยกเลิกก็คงทำไม่ได้เพราะเป็นจารีตประเพณีที่มีผลด้านจิตวิทยา สำนักของพรามหณ์ในสมัยก่อนจึงอยู่ไม่ห่างจากพระราชวังมากนัก หรือตั้งในเขตพระราชฐาน สามารถเรียกปรึกษาหารือได้อย่างทันทีทันควัน
ถามว่าปัจจุบันพระมหากษัตริย์หรือในหลวงของเรารวมทั้งราชวงศ์ยังต้องพึ่งพราหมณ์หลวงอยู่หรือไม่ ก็คงต้องตอบว่ายังรักษาจารีตประเพณีนั้นอยู่ ตัวอย่างง่ายๆ เช่น “การตั้งชื่อบุคคลในราชวงศ์” ก็ต้องพึ่งพราหมณ์หลวง วันเวลาที่ออกเสด็จอย่างเป็นทางการหรืองานพระราชพิธีก็ต้องดูฤกษ์ก่อน
หลายคนอาจไม่ทราบว่าการเสด็จพระราชดำเนินทุกครั้ง จะต้องมีการกำหนดฤกษ์ยามไว้แล้วว่าจะต้องเสด็จถึงงานพิธีในเวลาเท่าใด หรือให้อยู่ในช่วงเวลาใด และเท่าที่ทราบนั้นเวลาที่เสด็จถึงมักจะลงด้วยเลข 9 เสมอ เช่นเวลา 8.39 น. 9.19 น. หรือ 19.19 น. หากใครต้องการทราบว่าจริงหรือไม่ ต่อไปก็ลองสังเกตดู
ส่วนชื่อพระราชทานต่างๆ เช่นนามสกุลพระราชทาน หรือชื่อพระราชทานอื่น เช่นชื่ออาคารสถานที่ ชื่อถนน ชื่อสะพาน ชื่อเขื่อน ก็มาจากพราหมณ์หลวงทั้งนั้น
พราหมณ์ในศาสนาฮินดูของอินเดีย รวมทั้งพระสงฆ์ในศาสนาพุทธ จะได้รับยกย่องให้อยู่ในฐานันดรที่สูงกว่ากษัตริย์ หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมในหลวงรวมทั้งราชวงศ์ทุกพระองค์จึงต้องไหว้พระสงฆ์(แต่พระสงฆ์จะไม่รับไหว้)ทั้งนี้ก็เพราะว่า “ทั้งพราหมณ์และพระสงฆ์เปรียบเสมือนสาวกหรือตัวแทนของศาสดา“ มีหน้าที่สั่งสอนประชาชนให้เข้าถึงหลักธรรม
พระสงฆ์ถือว่าเป็นรัตนะ หรือเป็นแก้ว 3 ประการสำคัญในพระพุทธศาสนา ได้แก่
1 พระพุทธ หมายถึงองศ์ศาสดาหรือพระพุทธเจ้า
2 พระธรรม หมายถือคำสอน
3 พระสงฆ์หมายถึง ผู้ที่นำคำสอนไปเผยแพร่
ศาสนาฮินดูหรือศาสนาพราหมณ์เป็นศาสนาที่เชื่อเรื่องพิธีกรรมมาหลายพันปี ผู้นับถือศาสนาพราหมณ์ส่วนใหญ่จะเชื่อเรื่องฤกษ์ยาม สิ่งไม่ดีที่เกิดขึ้นกับตัวเองก็มักเชื่อว่ามาจากภายนอก จึงต้องขจัดปัดเป่าให้พ้นไปจากตัว หรือหาแพะมาเชือดเพื่อทำพิธีบูชายัญ
แต่ศาสนาพุทธ(ของแท้)จะไม่มีพิธีกรรมใดๆ พุทธศาสนาสอนให้คนเรารู้จักการกระทำ ให้รู้ผลแห่งการกระทำ ไม่ให้โทษสิ่งที่อยู่ภายนอกแต่ให้แก้ที่ตัวเราหรือแก้ที่เหตุ เมื่อทำแต่สิ่งดีที่ถูกต้องผลกรรม(ดี)ก็จะตกอยู่ที่ตัวเรา หากทำชั่วก็จะได้รับสิ่งชั่วเหมือนกัน ขณะเดียวกันการกระทำทั้งดีและชั่ว ยังส่งผลไปถึงบุคคลรอบข้างด้วย หรือมีผลกระทบกันเป็นลูกโซ่
พิธีแรกนาขวัญ
ดั่งเดิมพิธีนี้ใช้คำว่า“พิธีแรกนา” ต่อมาก็มีคำว่า “พิธีแรกนาขวัญ” ปัจจุบันใช้คำว่า“พิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ” หรือพิธีในวันพืชมงคล
และต่อไปก็ไม่ทราบว่าจะเปลี่ยนเป็นคำไหนอีก เพราะบ้านเรานี่ชอบกันนักกับการเปลี่ยนชื่อ อ้างว่าเชยบ้าง ไม่ทันสมัยบ้าง จึงต้องเปลี่ยนให้มันดูทันสมัย
คำว่าพิธีแรกนาปัจจุบันจึงไม่ค่อยมีคนใช้กัน หากใช้ก็อาจดูเชยๆ เหมือนกับว่าเป็นพิธีที่ไม่ครบถ้วน
แต่ความจริงน่าจะเป็นการพัฒนาของภาษาไทย(ที่ประเทศอื่นเค้าไม่ทำกัน)จะผิดจะถูกก็ไม่ขอวิพากษ์วิจารณ์เพราะไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษา รู้แต่ว่านักภาษาศาสตร์ของเมืองไทยที่สังคมยกให้เป็นกูรูหรือผู้รู้ “ ถูกด่าจนเละตุ้มเปะมาแล้วเมื่อไม่นานมานี้ กับข้อเสนอการออกเสียงให้ถูกต้องในภาษาต่างประเทศถึง 176 คำ”
ตัวอย่างเช่น
คอมพิวเตอร์ เป็น ค็อมพิ้วเต้อร์
ซีเมนต์ เป็น ซีเม็นต์
คอนเสิร์ต เป็น ค็อนเสิร์ต
คอร์ด เปลี่ยนเป็น ขอร์ด
กะรัต เปลี่ยนเป็น กะหรัต
ปิกนิก เปลี่ยนเป็น ปิ๊กหนิก
ใครอ่านแล้วก็คงปวดหัวกับศัพท์ใหม่ที่สำนักราชบัณฑิตอ้างว่าที่ใช้ๆอยู่ทุกวันนี้มีการออกเสียงไม่ตรงกับวรรณยุกต์ เรียกว่าไม่ถูกต้องตามหลักภาษาไทยว่างั้นเถอะ
แต่หลังจากโดนรุมด่ากันทั้งประเทศ และผลสำรวจก็ออกมาว่าเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ไม่เห็นด้วย ทางสำนักราชบัณฑิตฯจึงต้องยุติที่จะดำเนินการ งานนี้ต้องบอกว่าถูกปาด้วยก้อนอิฐชนิดหน้าแตกยับเยิน โดยเฉพาะอาจารย์กาญจนา นาคสวัสดิ์ จะโดนหนักกว่าใครๆเนื่องจากเป็นหัวหอกในเรื่องนี้
หลายปีก่อนจำได้ว่าราชบัณฑิตเคยบัญญัติศัพท์แสงของคอมพิวเตอร์ เพื่อให้การใช้ภาษาของทางราชการ ทั้งจดหมายหรือระเบียบการจัดซื้อจัดจ้าง รวมทั้งการอ่านข่าวทางวิทยุและโทรทัศน์เป็นไปอย่างถูกต้องตามหลักภาษาไทย เรียกว่าภาษาคอมพิวเตอร์จากต่างประเทศจะมาแบบไหน ราชบัณฑิตฯของไทยก็สามารถตอบโจทย์ได้ทุกคำศัพท์ สามารถกำหนดภาษาไทยขึ้นมารองรับได้ทั้งนั้น
เช่น
Computer ให้ใช้คำว่า คณิตกร
Hardware = กระด้างภัณฑ์
Softwaware = ละมุนภัณฑ์
Monitor = เครื่องเฝ้าสังเกต
Hard Disk Drive = จานบันทึกแบบแข็งที่หน่วยขับ
จอ LCD = จอภาพผลึกเหลว
joystick = ก้านควบคุม (แต่คนไทยตั้งชื่อล้อเลียนแท่งหรรษา)
Microsoft = จิ๋วละมุน
Scanner = เครื่องกราดภาพ
เป็นไงครับ อย่าพึงขำกลิ้งกับคำพิลึกพิลั่นเหล่านี้ ต้องบอกว่านี่เป็นสุดยอดของภาษาที่กลั่นมาจากมันสมองของราชบัณฑิต ชนิดที่เทวดาอ่านแล้วก็ยังไม่เข้าใจ
ก็น่าเห็นใจนะครับ คอมพิวเตอร์ก็ไม่เคยจับ ฮาร์ดแวร์ก็ไม่เข้าใจ โปรแกรมคอมพิวเตอร์หรือซอฟแวร์ก็ไม่รู้เรื่อง จะจิ้มก็ยังจิ้มไม่ค่อยจะถูก ครั้นจะใช้ก็คงไม่เป็นเพราะส่วนใหญ่อยู่ในวัยเกินเกษียณแล้วทั้งนั้น เรียกว่าแก่เกินแกงที่จะเรียนรู้เรื่องคอมพิวเตอร์
ภาษาคอมพิวเตอร์ที่พูดถึงมีเขียนไว้ในพจนานุกรมฉบับบัณฑิตราชยสถานด้วยนะครับ เรียกว่าบัญญัติไว้อย่างถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ แต่ปรากฏว่าไม่มีหน่วยงานไหนของรัฐบาลนำไปใช้ ผู้ประกาศข่าววิทยุและโทรทัศน์ก็ไม่มีใครสนใจ เพราะภาษามันเลิศหรูจนไม่มีใครกล้าใช้(อาจกลัวเหาจะกินหัวกระบาล) เกรงว่าหากนำไปใช้แล้วก็อาจขำกลิ้งกันทั้งประเทศ
กลับมาที่พิธีแรกนาขวัญกันต่อ
ปัจจุบันน่าจะมีประเทศไทยและกัมพูชาที่ยังรักษาประเพณีนี้อยู่ ของไทยเท่าที่สังเกตเรียกว่าทำพอเป็นพิธี ส่วนกัมพูชาเท่าที่เห็นจากคลิปวิดีโอแล้วเค้าทำกันเป็นงานใหญ่โดยใช้เวลาครึ่งค่อนวัน มีประชาชนมาร่วมชมพิธีหลายหมื่นคน ขบวนราชพิธีก็จัดกันเอิกเกริกสวยงาม เหมือนกับว่าต้องการให้พระราชพิธีนี้มีส่วนช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยว
ต่างกับของไทยที่ดูเหมือนไม่ได้หวังในเรื่องการท่องเที่ยวทั้งๆที่อยู่ใจกลางกรุงเทพและใกล้กับสถานที่สำคัญ เรียกว่าทำพอเป็นพิธีหรือแบบกระทัดรัด ถ้าอยากรู้อยากเห็นก็ให้ดูการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ และห้ามถ่ายภาพและบันทึกวิดีโอขณะมีพิธี
วันนั้นก็ งง งวย กับ "คำสั่งห้ามถ่ายภาพ" มาก ทั่งแปลกใจทั้งสงสัยว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น เพราะจุดที่ช่างภาพทั้งไทยและเทศยืนอยู่นั้นมันยืนอยู่นอกรั้วเหล็ก ชนิดไกลสุดกู่กับพลับพลาที่ประทับ ขนาดซูมด้วยเลนส์ระยะไกลแล้วก็ยังเห็นไม่ชัดเจน
ชาวนาไทยเดินทางเข้ากรุงเทพในวันพืชมงคล
เมื่อคืนวานมีชาวนาและเกษตรกรจากภาคต่างๆทั่วประเทศเดินทางเข้ากรุงเทพ และมาหลับนอนกันในบริเวณท้องสนามหลวง เพื่อจะได้มาเก็บเอาพันธ์ข้าวที่โปรยในพิธีแรกนา บางคนก็ขนกันมาเป็นครอบครัวทั้งลูกเล็กเด็กแดง และพ่อเฒ่าแม่เฒ่า
ราว 7.30 น. ทางหัวหน้ากลุ่มชาวนาได้ประกาศโทรโข่งว่าให้ทุกคนเตรียมตัว แต่หลายคนก็ยังนอนหลับ บางครอบครัวตื่นมาหุงหาอาหารกันตั้งแต่เช้ามืด แต่ยังโชคดีที่หัวหน้าแต่ละกลุ่มได้จัดหาข้าวปลาอาหารกันมาบ้าง เช่นน้ำพริกปลาร้าหรือน้ำพริกแจ่ว เพราะเห็นเกือบทุกกลุ่มนั่งทานเหมือนๆกัน
เมื่อใกล้เวลาทุกคนต่างก็ไปจับจองที่นั่งชิดขอบรั้วเหล็กที่กั้นเป็นคอกสี่เหลี่ยมกลางท้องสนามหลวง ตอนนี้แดดเริ่มร้อน ใครมานั่งคอยก็ต้องกางร่มบังแดด
ไม่นานก็เห็นตำรวจค่อยๆทยอยเข้ามายืนรักษาการณ์อยู่ภายในคอกรั้วที่กั้นไว้ถึงสองชั้น นอกจากนี้ก็ยังขึงเชือกกั้นเป็นแนวรั้วอีกชั้นหนึ่ง ยังแปลกใจว่าทำไมต้องกั้นแน่นหนาขนาดนี้ ทั้งที่พิธีก็ไม่มีอะไรใหญ่โตถึงขนาดต้องทำแบบนั้ และพื้นที่ตรงนี้ก็ไม่ไช่เป็นดินแดนใน 3 จังหวัดภาคใต้ที่ต้องระแวดระวังว่าจะใครจะมาปองร้าย
ถ้าจะบอกว่ากลัวประชาชนลุกฮือเข้ามาแย่งเมล็ดพันธ์ข้าวในขณะทำพิธี ก็ต้องบอกว่าชาวนาไทยที่อยู่รอบรั้ว แม้จะจนแต่ก็ไม่ได้โง่ และยังรู้จักกาลเทศะ เขามาด้วยอาการที่นอบน้อมถ่อมตน มาแบบชาวนาแบบคนรากหญ้า ไม่ได้มาประท้วง เย้วๆ เหมือนคนบางพวก
ยิ่งสายแดดยิ่งร้อน ผู้คนชักเริ่มมากขึ้นตามลำดับ ร่มสีสันต่างๆก็เห็นกางมากขึ้นเป็นเงาตามตัว แต่ก็ดูสวยงามดี
ในเวลา 8.39 น.สมเด็จพระบรมฯและพระวรชายาเสด็จมาถึง เพลงสรรเสริญเริ่มบรรเลง และทันทีที่เพลงจบนายหัวหน้าตำรวจใหญ่ที่ยืนรักษาการณ์ก็ตะโกนบอกประชาชน
ให้....
“ หุบร่ม ถอดหมวก ถอดแว่นตาดำ ห้ามถ่ายภาพ “
ปรากฏว่าเหล่าพวกไพร่ทั้งหลายที่อยู่รอบรั้วต่างเกรงกลัวบารมีของชนชั้นอำมาตย์ที่มียศศักดิ์ใหญ่เป็นถึงพันเอก และทุกคนรวมทั้งตาสีตาสา ป้าเมี้ยน ยายแม้น ต้องปฏิบัติตามคำสั่งกันอย่างงุนงง แต่ก็ยังพอจะใจชื้นขึ้นมาบ้างว่าคงจะไม่นาน(มั้ง) และยังคิดในเชิงบวกว่าการออกคำสั่งแบบนี้คงเป็นการแสดงความเคารพสมเด็จพระบรมฯและพระวรชายาหรือหม่อมศรีรัศม์ที่พึ่งเสด็จมาถึง จากนั้นก็คงปล่อยให้เป็นไปตามปกติ
แต่ที่ไหนได้ ทุกคนต้องนั่งบ้าง ยืนบ้าง ตากแดดกันตลอดพระราชพิธีที่ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงเศษๆ คนเฒ่าคนแก่ ลูกเล็กเด็กแดงต้องหาที่บังแดดกันให้วุ่น บางคนทนร้อนไม่ไหวก็กางร่มอยู่ห่างๆ แต่ไม่วายโดนตำรวจให้หุบ ช่วงเวลานั้นต้องบอกว่า ตำรวจต้องออกคำสั่งกันบ่อยมาก แถมบางคนแกล้งทำเป็นหูทวนลม แต่นายตำรวจก็บอกให้คนข้างๆช่วยสะกิด
บอกตรงๆว่างงมาก... ตนเองไม่เคยเข้ามาในงานพระราชพิธีชนิดเกาะขอบรั้วกันแบบนี้ และไม่ทราบว่างานราชพิธีต่างๆจะต้องเอากันถึงขนาดนี่เลยหรือ โดยเฉพาะคำสั่งที่บอกว่าให้ ถอดหมวก และถอดแว่นกันแดด เล่าให้ใครฟังก็งุนงทั้งนั้นว่า ว่ามันเกี่ยวข้องอะไรกับการรักษาความปลอดภัย หรือตำรวจคิดว่ากรุงเทพฯขณะนี้ตกอยู่ในภาวะสงคราม มีการแทรกซึมจากผู้ก่อการร้ายที่มุ่งปองร้ายราชวงศ์
ช่วงนั้นมีคนนำพัดมาขาย รวมทั้งธงชาติ และธงสีเหลือง ทุกอย่าง 10 บาท ปรากฏว่าขายดี
ภาพที่ปรากฏออกโทรทัศน์อาจจะดูดี ถือธงชาติบ้างธงเหลืองบ้าง เหมือนทุกคนแสดงจงรักภักดี ซึ่งความจริงไม่เป็นอย่างนั้น เพราะคนที่มาในงานส่วนใหญ่ต้องการมาเก็บเมล็ดข้าวในพิธีแรกนา เชื่อว่าหากไม่มีการโปรยข้าวเปลือกคงไม่มีผู้คนมากมายเท่านี้
นี่เป็นงานพระราชพิธีที่ประชาชนคนไทยควรมาร่วมงานกันให้มากๆเพื่อเป็นการอนุรักษ์ เพราะเป็นพิธีเก่าแก่ดั่งเดิม
ความรู้สึกขณะนั้นเหมือนกับว่าเรามาอยู่ในยุคเก่าหรือยุคโบราณที่ประชาราษฎร์ยังต้องเกรงกลัวพระบารมีของเจ้าเหนือหัว ใครขัดขืนก็ต้องคอขาดอะไรประมาณนั้น แต่ก็ถือว่าโชคดีที่ทุกคนไม่ต้องหมอบคลานพร้อมพนมมือเหมือนสมัยกรุงศรีอยุธยาหรือในภาพยนต์เรื่องพระนเรศวร
วันนั้นมีช่างภาพอิสระรวมทั้งช่างภาพสมัครเล่นจำนวนไม่น้อยที่ต้องการภาพงานพระราชพิธี แต่ก็ต้องผิดหวัง ก่อนหน้านั้นก็มีช่างภาพวิดีโอชาวญี่ปุ่น 2 คน เดินป้วนเปี้ยนมาตั้งแต่เช้าแล้ว ก็คงกลับประเทศไปพร้อมกับความฉงนสนเท่ห์ ว่านี่กรุงเทพมหานครหรือว่าเมืองแบกแดดประเทศอีรักกันแน่
วันนั้นยังถือว่าโชคดีที่ก่อนพิธีจะเริ่ม มีโอกาสถ่ายภาพทหารชุดแดงโบราณที่เดินช้าๆเข้ามารอบลานไถหว่านเพื่อจัดรูปขบวน และมีโอกาสถ่ายวัวหรือพระโคได้ 1 ภาพ แต่เป็นภาพบั้นท้าย เรียกให้ไพเราะหน่อยก็คือ "ภาพตูดพระโค"
เป็นอันว่าความตั้งใจที่มาถ่ายภาพในวันนี้ก็ได้แค่ 2 ภาพ
ขณะออกจากพิธีก็ครุ่นคิดไปตลอดว่า ทุกประเทศที่มีพระมหากษัตริย์ต่างก็เลิกล้มการรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวดไปหมดแล้ว ขนาดพิธีแรกนาขวัญของกัมพูชา เจ้านโรดม สีหมุนี กษัตริย์กัมพูชาก็ยังเดินมาจับไม้จับมือกับประชาชนด้วยความเป็นกันเอง เห็นภาพนั้นแล้วก็น่าประทับใจ ไพร่กับฟ้า อยู่ใกล้กัน
ต่างกับสถาบันกษัตริย์ของไทยที่หน่วยงานต่างๆพยายามจะยกให้เป็นสถาบันเทวดา ตำรวจก็คงได้รับคำสั่งให้รักษาความปลอดภัยอย่างเคร่งครัดและเข้มงวด แต่ทางผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมืองกลับไม่่ลืมหูลืมตาดูว่าประเทศอื่นๆเขาพัฒนาไปถึงไหนกันแล้ว เรายังมะงุมมะงาหราและเห็นคนไทยที่เกาะรั้วว่าเป็นพวกขี้ข้า ชั้นต่ำ
หากนักท่องเที่ยวจากประเทศทางยุโรปที่มีระบอบกษัตริย์เช่นเดียวกับไทยมาเห็นเข้าคงจะแปลกใจไม่ใช่น้อย ที่เมืองไทยยังมีเส้นแบ่งระหว่างสถาบันฯกับราษฏรค่อนข้างจะกว้าง และนับวันจะยิ่งห่างกันมากขึ้นเรื่อยๆ จนหลายคนเริ่มเป็นห่วงว่าหากเมืองไทยยังเป็นอยู่เช่นนี้ก็อาจมีแรงต่อต้านจากคนรุ่นใหม่ๆที่ไม่ค่อยจะอีนังขังขอกกับกฏเกณฑ์ที่ล้าสมัยแบบนี้
เรื่องกฏระเบียบคงเป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ ทางสถาบันคงไม่รู้ไม่เห็น แม้แต่รถติดบนถนนหรือบนทางด่วนจากขบวนเสด็จ ชาวบ้านที่เดือดร้อนก็คงด่ากราดไปหมด และแน่นอนว่าคงกระทบไปถึงสถาบันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ถึงจะรู้ว่าเป็นการปฎิบัติงานของเจ้าหน้าที่ แต่อารมณ์ของคนที่โมโหก็อาจแกล้งไม่เข้าใจ แถมอาจนินทาลับหลังอีกว่า "ก็เพราะคนๆเดียวแต่ทำให้คนอีกเป็นร้อยเป็นพันต้องเดือดร้อน"
เรื่องเหล่านั้จะไม่ใส่ใจก็คงจะไม่ได้ เพราะสนิมเหล็กก็เกิดจากการกัดกร่อนเนื้อในทีละเล็กละน้อยแบบนี้ หากไม่แก้ไข ความเข้าใจว่า "ต่างชนชั้น"ก็จะทวีมากขึ้นเรื่อยๆ
ถึงเวลานั้นก็อาจเหลือคนไทยที่ยังจงรักภักดีเพียงหยิบมือเดียว เพราะเอือมระอากับสิ่งที่พบเห็นกันอยู่เป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นรถติดขณะมีขบวนเสด็จ หรือการที่ต้องทนรับฟังข่าวในราชสำนักที่ดูจะเป็นการสร้างภาพ ซึ่งการทำภาพยนต์ข่าวต่างๆอยู่ในความรับผิดของหน่วยงานภาครัฐ แต่กลับไม่ค่อยพัฒนาให้เหมาะสมกับสถานการณ์
สิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมเวลานี้ ไม่ว่าเป็นขบวนการล้มเจ้า การมีเว็บหมิ่นสถาบัน การร่วมลงชื่อของอาจารย์มหาวิทยาลัยและสื่อมวลชนเพื่อให้มีการแก้ไขบางมาตราที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ฯลฯ มันเป็นปฏิกิริยาโต้กลับที่แสดงถึงความอึดอัด เพราะจะแสดงแบบตรงไปตรงมาเหมือนกับนานาอารยะประเทศนั้นไม่ได้ เนื่องมีกฎหมายพิเศษที่ชนิดตายคาคุกมาแล้ว นั่นก็คือ ม.112 และกฏหมายมาตรานี้ก็ทำเอาสื่อมวลชนกลัวจนหัวหด ใครยุ่ง ใครเข้ามาใกล้มาตรานี้ต้องมีอันเป็นไปทุกราย ไม่เชื่อถามนักข่าวจากสถานีโทรทัศน์ Thai PBS ก็ได้ว่าเหี้ยนขนาดไหน
"รายการตอบโจทย์เรื่องสถาบันกษัตริย์" ไงละครับท่าน
หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่นสำนักพระราชวัง สำนักราชเลขาฯ องคมนตรี ตำรวจ และทหาร ได้มาประชุมเพื่อกำหนดกฎเกณฑ์กันใหม่ให้เหมาะสมกับปัจจุบัน ก็น่าจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติทั้งปัจจุบันและอนาคต ไม่ใช่คอยตำหนิติเตียนกับคนที่มีความคิดเห็นแตกต่างว่าไม่มีความจงรักภักดี
ที่ผ่านมาผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองก็มักแสดงปฏิกริยากระฟัดกระเฟียดต่อบุคคลที่วิจารณ์สถาบันว่า “ใครทนไม่ได้กับมาตรา 112 ก็ให้ไปอยู่ที่อื่น หรือบอกว่ามาตรา 112 มีไว้ แล้วหนักหัวกระบาลใคร ”
คำพูดคำจาของผู้หลักผู้ใหญ่ที่เป็นกลุ่มขวาจัดอาจยังดูน่าเกรงขาม เพราะท่านเหล่านั้นยังต้องพึ่งพาบารมีจากพระองค์ จึงไม่คิดเปลี่ยนแปลงแก้ไข กฏ กติกา ใดๆ
ไม่แก้ไม่ว่า แต่ระยะหลังดูเหมือนว่าจะยิ่งส่งเสริมชนิดจัดหนัก ไม่ต่างกับคำว่า “ล้างสมอง” ใครสงสัยก็ดูจากข่าวตอนค่ำๆได้ทุกวันว่ามีสาระบ้าง ไม่มีสาระบ้าง
คนไทยเวลานี้อาจไม่ต่างกับชาวเกาหลีเหนือที่ถูกรัฐบาลให้รับฟังข่าวสารแบบโฆษณาชวนเชื่อ และผลที่ออกมาก็ถือว่าได้รับความสำเร็จ คนเกาหลีเหนือจะเชื่อผู้นำชนิดฝังใจ ยกย่องบูชาเทิดทูนเสียยิ่งกว่าพระเจ้า เหมือนเป็นทั้งผู้นำและเป็นศาสดาที่ต้องกราบไหว้บูชา
เวลานี้คลื่นใต้น้ำในเมืองไทยอาจยังไม่กระพือมากนัก แต่ถ้ารัชกาลที่ 10 ครองราชย์เมื่อใด เมื่อนั้นก็อาจกลายเป็น “คลื่นสึนามิ”
ถึงเวลานั้นพวกขวาจัดทั้งหลายก็เตรียมรับมือให้ดีๆก็แล้วกัน เพราะคลื่นนี้รุนแรงชนิดพลิกฟื้นประเทศไทยได้ และจะรุนแรงยิ่งว่ากบฏ ร.ศ. 130 (พ.ศ.2455) หรือจากกลุ่มคณะราษฎร (พ.ศ.2475) ที่ยึดอำนาจจากกษัตริย์ในรัชกาลที่ 7
อย่าลืมว่าประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย โดยมีประชาชนเป็นใหญ่ ไม่ไช่ปกครองด้วยระบบอื่น
ก่อนจบขอเอาภาพจากกัมพูชาและจากประเทศอังกฤษ มาให้ดูเป็นความรู้ ว่าระบบการรักษาความปลอดภัยเป็นเหมือนสยามประเทศหรือไม่ มีการกีดกันประชาชนหรือไม่ หากใครเห็นว่าบ้านเราดีแล้ว เป็นอารยะประเทศ ก็ไม่ว่ากัน


โฟโต้ออนทัวร์
31 พฤษภาคม 2556
|