ล่องเจ้าพระยา (ตอนที่ 2)
(บันทึกการเดินทางเมื่อวันที่ 8 กพ.53)
ล่องเจ้าพระยาตอนที่ 2 เป็นช่วงที่คิดว่าเรือกำลังแล่นเข้าเขตจังหวัดปทุมธานี แต่ก็ไม่ค่อยแน่ใจนัก เพราะการล่องเรือมาตามแม่น้ำแบบนี้ หากไม่ไช่คนที่เดินทางบ่อยๆหรือคนในพื้นที่ ก็คงไม่มีใครทราบว่าขณะนี้อยู่ในเขตใดจังหวัดใด เพราะไม่มีป้ายบอก จึงอาศัยเดาๆจากชื่อวัดบ้าง หรือป้ายสะพานที่เรือกำลังลอดบ้าง ก็พอจะรู้ว่าขณะนี้อยู่ในจังหวัดไหน ผิดกับการเดินทางโดยรถยนต์ ที่มีป้ายทางหลวงบอกสถานที่เป็นระยะๆ
การเดินทางโดยทางน้ำแตกต่างกับเดินทางโดยรถยนต์อีกอย่างหนึ่งก็คือ ความคดเคี้ยวของแม่น้ำ หากดูจากแผนที่แล้วก็ไม่ต่างกับงูขนาดใหญ่ที่เลื้อยไปมา ผิดกับถนนที่เกือบจะเป็นเส้นตรงตลอด ทำให้การเดินทางโดยเรือจะใช้เวลายาวนานกว่ารถยนต์ค่อนข้างมาก
แม้เรือริเวอร์ไซด์ 3 ลำนี้ จะมีความเร็วสูง แต่ก็ดูเหมือนว่าจะไปไม่ถึงไหน ทำให้นึกถึงคนสมัยก่อนๆที่ใช้เรือพายหรือเรือถ่อ เช่นในภาพยนต์สารคดีทางทีวีไทย รายการตามรอยเสด็จประพาสต้นของรัชกาลที่ 5 ว่าจะใช้เวลานานขนาดไหน
นี่ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การเดินทางโดยทางเรือในระยะทางไกลๆไม่เป็นที่นิยม
บ้านเราการเดินทางโดยเรือในแม่น้ำระหว่างจังหวัดแทบจะไม่มี หรือไม่มีเลยก็ว่าได้ เนื่องจากมีทางรถยนต์ที่รวดเร็วกว่า แต่บางประเทศ เช่นประเทศจีน ดินแดนที่มีแผ่นดินกว้างใหญ่ไพศาล เรือโดยสารขนาดใหญ่ยังวิ่งในแม่น้ำสายสำคัญๆอยู่หลายแห่ง เรือแต่ละลำก็มีสิ่งอำนวยความสะดวกพอสมควร ทั้งเรื่องกินและเรื่องนอน
สาเหตุที่จีนยังมีเรือโดยสารประเภทนี้เนื่องจากภูมิประเทศไม่เอื่อประโยชน์ในการสร้างถนนหนทางเช่นอาจเป็นภูเขาสูงชัน การใช้แม่น้ำเป็นเส้นทางสัญจรจึงเป็นสิ่งจำเป็น
การเดินทางแต่ละครั้งของคนไทยสมัยก่อนที่ใช้เรือพายเป็นพาหนะ คิดว่าคงต้องตระเตรียมสัมภาระกันยกใหญ่ ทั้งข้าวปลาอาหารแห้ง เครื่องนุ่งห่มรวมถึงของใช้ต่างๆ เพราะการเดินทางไปไหนมาไหนไกลๆ น่าจะเรียกว่าเป็นการรอนแรม ประภทค่ำที่ไหนก็นอนที่นั่น เรื่องเวลา เรื่องช้า เรื่องเร็ว คนสมัยก่อนจึงไม่คำนึงมากนัก ต่างกับปัจจุบันที่ทุกอย่างถูกกำหนดด้วยเวลา
ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว สุภาษิตไทยแต่ดั้งเดิมสะท้อนถึงความอุดมสมบูรณ์ของแม่ลำคลอง และพืชพรรณธัญญาหาร คนสมัยก่อนจะไปไหนมาไหนจึงไม่มีคำว่าอดอยาก เพราะอาหารมีให้กินในทุกๆที่
ยิ่งเป็นการเดินทางโดยทางเรือแล้วยิ่งไม่ต้องกังวล เตรียมข้าวสารมาอย่างเดียว กับข้าวอย่างอื่นก็ไปหาเอาข้างหน้า ปลาก็หาจากในน้ำ ริมฝั่งก็มีพืชผักมากมายที่สามารถนำมาปรุงอาหารได้ เช่นผักบุ้ง ผักกะเฉด หรือพืชชนิดอื่นๆที่ขึ้นตามริมน้ำ
คิดแล้วก็น่าจะเป็นชีวิตที่สุขสบายของคนไทยในสมัยนั้น เดินทางไกลแต่ละครั้งก็อาจมีข้าวของที่พอจะขายได้บรรทุกลงเรือ เจอตลาดน้ำระหว่างทางก็นำมาขาย ได้เงินสะสมพอที่จะเป็นทุนในระหว่างเดินทางต่อไป
สำหรับล่องเจ้าพระยาตอนที่ 3 หรือตอนต่อไป จะเป็นช่วงที่เข้าเขตนนทบุรีและกรุงเทพ มาถึงโรงแรมริเวอร์ไซด์กรุงเทพราว 17.30 น. หรือเวลาใกล้พระอาทิตย์ตก
สำหรับตอนที่ 2 และ 3 อาจจะรวบรัดหน่อย เพราะผมดันมีโอกาสนั่งเรือแบบนี้อีกครั้งหนึ่ง แต่เป็นการเดินทางที่ตรงกันข้ามจากคราวนี้ ที่เรียกว่าไปรถกลับเรือ แต่หนนี้ไปเรือกลับรถ จึงได้ภาพสองฝั่งเจ้าพระยาในยามเช้า ได้บรรยากาศและความสวยงามไปอีกแบบ
โฟโต้ออนทัวร์
14 มีนาคม 2553
|