ภาพท่องเที่ยว เชียงใหม่ ปาย แม่ฮ่องสอน ตอนที่2
(เดินทาง 9-12 กย.56) าพท่องเที่ยว เชียงใหม่ ปาย แม่ฮ่องสอน ตอนที่2
เที่ยวเชียงใหม่ - ปาย ตอนที่แล้วเป็นการออกเดินทางจากแม่ฮ่องสอนสู่อำเภอปายที่มีระยะทาง 105 กม. แต่เป็นเส้นทางที่คดเคี้ยวบนภูเขาที่น่าเวียนหัวพอสมควร
ระหว่างทางแวะถ่ายภาพที่จุดชมวิว "ดอยกิ่วลม" ตอนพระอาทิตย์ใกล้จะลับเหลี่ยมเขา ก็ยังพอได้ภาพติดไม้ติดมือมานิดหน่อย
เราออกจากแม่ฮ่องสอนในเวลา 4 โมงเย็น ถึงปายเมื่อเวลาราว 18.30 น. ใช้เวลาเดินทางบนเขาประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่ง
มาถึงปายเกือบจะมืดแล้ว หลังติดต่อหาที่พักที่อยู่ริมน้ำอีกราว 45 นาที ก็ได้เวลามึดพอดี
ราคาที่พักเมืองปายไม่ถูกนะครับ แม้ช่วงนี้ถือว่าเป็นโลวซีซั่น แต่ราคาไม่โลว์ตาม เหตุที่ราคาไม่ลงก็เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวจากจีนเข้ามากันมาก ชนิดที่เข้ามาแทนนักท่องเที่ยวคนไทยที่ลดลงในช่วงปลายฤดูฝนต้นเดือนพฤศจิกายนนี้
คืนนี้ยังมีฝนตกบ้างเล็กน้อยทำให้การเดินเล่นที่ถนนคนเดินไม่ค่อยสะดวกนัก ผู้คนก็ดูจะบางตา นักท่องเทียวไทยในคืนนี้ถือว่าน้อยมากเนื่องจากเป็นวันทำงานปกติ
ที่มากหน่อยก็หนีไม่พ้นนักท่องเที่ยวจากจีน ดูหน้าตาแล้วน่ามีอายุระหว่าง 20-30 ปี หรือวัยหนุ่มสาวทั้งนั้น ส่วนพวกฝรั่งมักจะนั่งจิบเบียร์ ฟังเพลง ทอดอารมณ์อยู่ตามร้านที่เปิดไฟสลัวๆ
จะว่าไปแล้วคนจีนก็ไม่ต่างกับคนไทยคือไม่ชอบนั่งกินเหล้า หรือนั่งกินเบียร์ในร้านสักเท่าใด ส่วนใหญ่ที่เห็นก็มักดูโน่นซื้อนี้ตามร้านค้าหรือร้านขายของที่ระลึก
รสนิยมระหว่างฝรั่งชาติตะวันตกกับคนเอเชียดูจะแตกต่างกันในเรื่องนี้ ตามร้านเหล้า ผับ บาร์ ส่วนใหญ่ก็จะเห็นแต่พวกฝรั่งที่นั่งกันนานๆ ตามบ้านพักในเมืองปายก็จะเห็นฝรั่งออกมานั่งทอดอารมณ์ตามระเบียงห้องพักจนเป็นเรื่องปกติ บางคนก็นั่งสูบบุหรี่ หรือนั่งอ่านหนังสือ ใครผ่านไปมาก็ทักทาย Say Hello ซึ่งรสนิยมแบบนี้ต่างกับคนไทยและคนเอเชียที่ไม่ชอบอยู่นิ่งๆและนานๆ
รุ่งขึ้นเรานั่งรถออกไปชมวิวทิวทัศน์ที่อยู่นอกเมือง โดยขับรถขึ้นไปบนเขาที่ไม่สูงนัก แต่เห็นทิวทัศน์เมืองปายได้สวยงามและเป็นธรรมชาติมากทีเดียว ทำให้รู้ว่าเมืองปายน่าอยู่กว่าจังหวัดแม่ฮ่องสอนมาก ปายยังมีความเป็นธรรมชาติ มีนาข้าวเขียวขจี ผู้คนก็ยังเป็นชาวบ้านๆที่ใช้ชีวิตแบบดั่งเดิม
ใครที่มาเที่ยวปายแบบประเดี๋ยวประด๋าว กลางคืนก็ออกเดินเล่นที่ถนนคนเดินที่เต็มไปด้วยนักท่องเที่ยว แล้วกลับไปก็วิจารณ์ว่าป่ายไม่น่าอยู่ เปลี่ยนไปจากวิถีเดิมๆ ก็ขอให้เข้าใจเสียใหม่ว่า ปาย ไม่ไช่มีแค่ถนนคนเดินที่คราคร่ำไปด้วยนักท่องเที่ยวในช่วงเทศกาล แต่ปายยังมีพื้นที่อีกมากมายที่สะท้อนวิถีชีวิตชนบทอันเรียบง่าย ส่วนถนนคนเดินที่เต็มไปด้วยร้านค้า และที่พักนั้นเป็นแค่ส่วนเล็กๆเท่านั้นเอง
สรุปว่าหากต้องการรูจักคำว่าเมืองปายให้เข้าใจก็ต้องออกมาชมบ้านเรือนที่อยู่นอกเมือง แล้วก็จะได้คำตอบว่า "ปาย..สงบ และน่าอยู่กว่าเมืองอื่นๆ" และหากใครต้องการมาเที่ยวในสถานที่เป็นชนบทที่ห่างไกลจากความเจริญแล้ว เมืองปายน่าจะเป็นคำตอบ
ระหว่างที่นั่งรถออกไปนอกเมือง เห็นสนามบินขนาดเล็กสำหรับเครื่องบินที่บินมาจากเชียงใหม่ ใครไม่อยากนั่งรถวนเขาที่มีประมาณ 1860 โค้งก็ใช้บริการเครื่องบินใบพัดขนาดเล็กได้ ใช้เวลาแค่ครึ่งชั่วโมงก็มาถึงเมืองปายแล้ว
หลายปีก่อนเห็นรายการโทรทัศน์มาถ่ายทำรายการที่หมู่บ้านชาวจีนในเมืองปาย ซึ่งเป็นชาวจีนอพยพมาจากมณฑลยูนนาน พร้อมแนะนำอาหารพื้นเมืองที่ขึ้นชื่อของที่นี่
ปรากฏว่ามาครั้งนี้มีโอกาสมาเที่ยวหมู่บ้านชาวจีนที่เคยกล่าวถึงในรายการโทรทัศน์
ชาวจีนที่นี่อพยพเข้ามาอยู่เมืองไทยนานราว 60-70 ปี สาเหตุที่เข้ามาก็เนื่องจากมีการปฏิวัติทางวัฒนธรรมในประเทศจีน โดยผู้นำจีนในขณะนั้นทำการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศให้เป็นแบบ "ลัทธิคอมมิวนิสต์ "เลิกระบบขุนนางและชนชั้น ทรัพย์สินเงินทองของเศรษฐีมีเงินถูกยึด รวมทั้งที่ดินก็ถูกยึดมาเป็นของรัฐด้วย
ช่วงเวลานั้นประเทศจีนมีความอดอยากและล้มตายเป็นจำนวนมาก ภายในประเทศก็เกิดการแตกแยก มีก๊กมีเหล่ามากมาย ใครสู้ไม่ได้ก็ต้องหนีออกนอกประเทศ
เดิมชาวจีนจากมณฑลยูนนานที่อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ตามแนวชายแดนไทยมีความผิดตามกฎหมาย จึงต้องหลบๆซ่อนๆอยู่ตามป่าเขาระหว่างไทยกับพม่า คนไทยเรียกชาวจีนกลุ่มนี้ว่า “จีนฮ่อ”
เรื่องราวของจีนฮ่อในเวลานั้นยังเกี่ยวข้องกับการลับลอบค้าขายยาเสพติดหรือเฮโรอิน ที่ถือว่าเป็นภัยของชาติ รัฐบาลจึงต้องทำการปราบปรามอยู่เป็นประจำ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จนักเนื่องจากพวกจีนฮ่อได้หนีข้ามจากแดนไทยไปอยู่ในเขตรัฐฉานของพม่า พอเรื่องราวสงบก็กลับเข้ามาใหม่ เป็นอย่างนี้อยู่หลายครั้ง
ต่อมารัฐบาลพยายามเอาใจชนกลุ่มน้อยตามแนวชายแดนโดยโอนสัญชาติให้เป็นคนไทย ตามนโยบายการปราบปรามคอมมิวนิสต์
ชนกลุ่มน้อยที่เคยกระจัดกระจายตามที่ต่างๆก็ให้มารวมกลุ่มกันที่ตำบลเวียงใต้ อ.ปาย เพื่อแยกแยะระหว่างชนกลุ่มน้อย กับ พวกคอมมิวนิสต์ที่ไม่ให้ความร่วมมือกับรัฐบาลและยังหลบซ่อนอยู่ตามป่า
การให้สัญชาติไทยกับชนกลุ่มน้อยก็ไม่ต่างกับไม่ต่างกับนโยบาย 66/23 ในสมัยอดีตนายกฯเปรม เพื่อให้คนไทยทีฝักใฝ่ในลัทธิคอมมิวนิสต์กลับเข้ามาพัฒนาชาติไทย หากไม่เข้ามาร่วมมือกับรัฐบาลก็จะถูกฝ่ายทหารเข้าปราบปราม จึงเป็นการหนีตายเพื่อเอาตัวรอด
ตอนนั้นคนไทยที่อยู่ในป่าจำนวนมากเข้ามามอบตัว และกลับมาประกอบอาชีพโดยสุจริต โดยเรียกคนไทยที่เข้ามามอบตัวนี้ว่า “ผู้พัฒนาชาติไทย” ซึ่งในจำนวนนี้ก็มีจำนวนไม่น้อยที่กลายเป็นนักการเมืองในปัจจุบัน
สำหรับหมู่บ้านชาวจีนยูนนาน มีชื่อใหม่ว่า “หมู่บ้านสันติชล“ เข้าใจว่าก่อตั้งเป็นหมู่บ้านอย่างถูกต้องในยุครัฐบาลอดีตนายกฯ ชาติชาย ชุณหวัน
ปัจจุบันหมู่บ้านสันติชลกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ บรรยากาศไม่ต่างเหมือนเข้ามาเที่ยวเมืองจีน มีการสร้างบ้านดิน ซึ่งเป็นบ้านแบบดั่งเดิมของชาวจีนยูนนาน ภายในหมู่บ้านที่จัดให้เป็นพื้นที่ท่องเที่ยว มีร้านขายของที่ระลึกที่นำเข้าจากจีน มีการจำลองกำแพงเมืองจีน มีห้องแสดงทางวัฒนธรรม ฯลฯ
แต่วันนี้เรามาเที่ยวตอนเช้า เรียกว่าเป็นนักท่องเที่ยวชุดแรกๆของวันนี้ บรรยากาศอาจไม่คึกคักเท่าตอนกลางคืนที่จะเห็นแสงสีประดับประดาตามอาคารต่างๆ
แต่ที่ชอบมากก็ตรงได้ลิ้มรถอาหารของชาวจีนยูนนานที่ขึ้นชื่อ ได้แก่ ขาหมูหมั่นโถ และไก่ดำตุ๋นสมุนไพรจีน สองเมนูนี้ถือว่าพลาดไม่ได้ โดยเฉพาะขาหมู+หมั่นโถ ที่อร่อยมาก ส่วนไก่ดำตุ๋นยาจีนนั้นรสชาติจะออกเผ็ดๆ เนื่องจากใส่เครื่องเทศที่เป็นของพื้นเมืองเหนือด้วย ทำให้ได้รสชาติที่แปลกแต่ก็อร่อย
หลังทานอาหารเช้าที่หมู่บ้านยูนนานเรียบร้อยแล้วก็ออกเดินทางสู่จังหวัดเชียงใหม่
พบกันใหม่ในตอนต่อไป
โฟโต้ออนทัวร์
11 มกราคม 2557

