ภาพท่องเที่ยว เชียงใหม่ ปาย แม่ฮ่องสอน ตอนที่5
(เดินทาง 9-12 กย.56) าพท่องเที่ยว เชียงใหม่ ปาย แม่ฮ่องสอน ตอนที่2
การท่องเที่ยวเชียงใหม่ ปาย แม่ฮ่องสอนตอนที่ 5 นี้ เป็นการออกเดินทางจาก อ.ปาย สู่จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างทางได้แวะทานกาแฟ และแวะ "สะพานประวัติศาสตร์" ที่ตั้งอยู่ในเขตอำเภอปายแต่ออกนอกเมืองมาไกลพอสมควรแล้ว
ที่แรกก็ยังงงๆ ว่าสะพานประวัติศาสตร์แถวนี้มีด้วยหรือ อีกอย่างอำเภอปาย ก็คงไม่มีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานมากนัก
แต่พอมาถึงสะพานก็ร้องอ๋อทันที เพราะมันก็คือสะพานเหล็กที่เราพอจะคุ้นหน้าคุ้นตากัน
ทีแรกก็คิดว่าเป็นสะพานที่อยู่คู่กับถนนสายนี้มาเป็นเวลานาน หรือมีมาตั้งแต่สร้างถนนสายนี้ แต่ความจริงแล้วเป็นการรื้อสะพานนวรัฐ ที่สร้างข้ามแม่น้ำปิงในจังหวัดเชียงใหม่ แล้วนำโครงเหล็กเก่ามาสร้างที่ปาย เพื่อทดแทนสะพานเก่า ซึ่งเป็นสะพานไม้ที่ทหารญี่ปุ่นเกณฑ์ชาวบ้านมาสร้างเมื่อปีพ.ศ 2485 ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2
เพื่อลำเลียงอาวุธยุทโธปกรณ์ข้ามไปยังฝั่งพม่า เช่นเดียวกับสะพานรถไฟสายมรณะที่จังหวัดกาญจนบุรี
แต่สะพานที่เมืองกาญฯเป็นสะพานเหล็ก ส่วนสะพานที่ข้ามแม่น้ำปายที่ท่าปายเป็นสะพานไม้
คิดว่าคงจำกันได้นะครับว่าสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น ญี่ปุ่นใช้เมืองไทยเป็นทางผ่านเพื่อส่งทหารและอาวุธเข้าไปประเทศพม่า
เพื่อรบกับอังกฤษ
ในเมืองไทยสะพานเหล็กส่วนใหญ่จะเป็นสะพานรถไฟ ที่เห็นใกล้ตัวตอนนี้ก็มีสะพานพระราม 6 ที่สร้างเมื่อพ.ศ.2465 หรือก่อนรัชกาลที่ 6 สวรรคต 3 ปี (สวรรคต 2468)
เมื่อวันที่ 7 กพ.2488 หรือสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 สะพานพระราม 6 ถูกเครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตรหรือกองทัพอังกฤษทิ้งระเบิด จนขาดเป็นสองท่อน ปัจจุบันถือว่าเป็นสะพานเหล็กที่เก่าแก่ที่สุด และอยู่คู่กับกรุงรัตนโกสินทร์มานานถึง 92 ปี ส่วนสะพานพระพุทธยอดฟ้าซึ่งเป็นสะพานโครงเหล็กเช่นเดียวกัน แต่สร้างทีหลังสะพานพระราม 6 ถึง 7 ปี หรือสร้างในปีพ.ศ.2472
สะพานพระราม 6 สมัยก่อนใช้เป็นทั้งสะพานรถยนต์และรถไฟ(แต่ให้รถไฟวิ่งได้ทางเดียว) และหลังจากมีการสร้างสะพานพระราม7(สร้างปี 2533 ใช้งาน 2535)ทางรถยนต์บนสะพานพระราม 6 ได้ถูกปิดไปเพื่อสร้างทางรถไฟอีกเส้นทางหนึ่งให้รถไฟวิ่งสวนกันได้
สะพานพระราม 6 มีอายุเกือบ 100 ปี แต่คิดว่าคนไทยที่อยู่แถวบางซื่อและบางบางพลัด คงไม่คิดว่าจะเป็นประวัติศาสตร์อะไร แหงนมองทุกครั้งมันก็คือสะพานเเหล็กธรรมดาๆนี่เอง
แต่สำหรับที่เมืองปายซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวอยู่แล้ว พอใครจุดประเด็นอะไรขึ้นมาก็จะกลายเป็นที่สนใจขึ้นมาทันที
และการขึ้นป้ายว่า “สะพานประวัติศาสตร์ “ ก็ยิ่งทำให้เพิ่มความน่าสนใจเข้าไปอีก จนใครต่อใครที่ผ่านมาอดไม่ได้ที่ต้องแวะชม พร้อมกับถ่ายภาพสะพานไว้เป็นที่ระลึก
เมืองไทยสะพานเหล็กแบบนี้เห็นมีอยู่หลายแห่ง บางแห่งก็ยังใช้งานเป็นปกติ แต่บางแห่งถูกรื้อทิ้งไปเนื่องจากมีสะพานใหม่เข้ามาแทนที่ หากใครไปเที่ยวลาว เขมร เวียดนาม ก็คงจะเห็นว่ามีให้เห็นจนเป็นเรื่องธรรมดา โดยเฉพาะสะพานข้ามแม่น้ำแดงที่กรุงฮานอย เมืองหลวงของประเทศเวียดนาม ซึ่งยาวมากทีเดียว ใครไปเที่ยวกรุงฮานอยก็ต้องนั่งรถผ่านไปมาอยู่หลายครั้ง เช่นไปสนามบินและตอนที่ข้ามไปเที่ยวอ่าวฮาลองเบย์
สะพานเดชาติวงค์ สะพานสลิงรูปโค้งข้ามแม่น้ำปิงในจังหวัดนครสวรรค์ และใช้งานมานานถึง 72 ปี ปัจจุบันก็ยังให้รถวิ่งได้(เฉพาะรถเล็ก) แม้จะมีสะพานใหม่ที่ใหญ่โตกว่าอยู่คู่ขนานกัน แต่สะพานเก่าก็ยังไม่ทุบทิ้ง
สะพานที่มีอายุ 72 ปี ถือว่านานมาก แต่เนื่องจากยังใช้งานตามปกติ คนทั่วไปอาจไม่คิดถึงความเก่าแก่ของมันนัก
ในทางตรงกันข้ามถ้าหากว่าปิดการใช้งานและเหลือไว้แค่เป็นสะพานคนเดินและขี่จักรยาน พร้อมกับขึ้นป้ายว่า “สะพานประวัติศาสตร์ 2485 ปี “ หรือ "สะพานคนเดิน 72 ปี " ก็อาจเป็นที่สนใจและอาจกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีความหมายขึ้นมาทันที
สู่เชียงใหม่
ออกจากเมืองปายตอนสายๆ แล้วเดินทางสู่เชียงใหม่
ถึงเชียงใหม่ก็ไปแวะ “ดอยม่อนแจ่ม” ในเขตอำเภอแม่ริม ซึ่งเป็นสถานท่องเที่ยวแห่งใหม่ที่รู้จักกันไม่กี่ปีมานี้ ถ้าจำไม่ผิดน่าจะเป็นที่ตั้งโครงการหลวง เพื่อส่งเสริมอาชีพของชาวเขาให้ปลูกพืชผักและผลไม้ เช่นเดียวกับที่เคยประสบความสำเร็จมาแล้วในที่อื่นๆ
โครงการหลวงฯ เท่าที่ทราบมานั้น นอกจากจะส่งเสริมการปลูกพืชผักและผลไม้แล้วก็ยังรับซื้อจากชาวเขาเพื่อจัดจำหน่ายอีกด้วย
ในจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดอื่นๆทางภาคเหนือเช่นจังหวัดเชียงราย จะเห็นว่ามีโครงการหลวงอยู่หลายแห่ง ส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ตามภูเขาสูงในถิ่นที่อยู่ของพวกชาวเขา
ต่อมาสถานที่เหล่านี้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว พร้อมมีบริการที่พักสำหรับนักท่องเที่ยว เพื่อเยี่ยมชมสวนไม้ดอกไม้ประดับ และสวนพืชผักเมืองหนาวที่ได้รับคำแนะนำในการเพาะปลูกอย่างถูกวิธี หรือถูกต้องตามหลักวิชาการ
ดอยม่อนแจ่ม หรือ โครงการหลวงหนองหอย ถือว่าเป็นคำฮิตที่ติดปากนักท่องเที่ยวไม่กี่ปีมานี้ เรียกว่ายังใหม่ซิงๆ ดอกไม้ ต้นไม้ หรือพืชผักเมืองหนาวขณะนี้อาจดูยังไม่มากนัก แต่อีกไม่นานก็คงกลายเป็นสถานท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงเช่นเดียวกับสถานที่อื่นๆ
ดอยม่อนแจ่มตั้งอยู่บนภูเขาสูง การเดินทางอาจลำบากสักหน่อย ถนนค่อนข้างแคบและสูงชันมากในบางช่วง แต่เมื่อขึ้นไปถึงข้างบนก็จะรู้สึกโล่งโปร่งสบาย เนื่องจากอากาศที่นี่สดชื่นเย็นสบายจริงๆ หากเป็นฤดูหนาวจะหนาวจัด ตอนเช้าๆบางวันหากโชคดีก็อาจเห็นทะเลหมอก
เมื่อต้นปี 2557 ในช่วงที่เกิดวิกฤติการเมืองที่กรุงเทพฯ อันเกิดจากการ Shutdown Bangkok ของพวก กปปส.
นายกฯยิ่งลักษณ์ ก็ได้หลบพวกม๊อป แล้วขึ้นดอยไปเที่ยวบนดอยม่อนแจ่ม ปรากฏว่าเป็นที่ฮือฮาแก่นักท่องเที่ยวที่ไปตั้งแคมป์อยู่บนยอดดอย หลายคนมารุมถ่ายภาพ เรียกว่าได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากคนเหนือรวมทั้งนักท่องเที่ยว
ปรากฏว่าวันต่อๆมาคนแห่ไปเที่ยวดอยม่อนแจ่มจนการจราจรบริเวณเชิงเขาเป็นอัมพาต ที่พักแน่นเอี๊ยดกว่าทุกวัน
การที่นายกฯยิ่งลักษณ์ใช้วันหยุดสิ้นปีออกไปพักผ่อนตามสถานที่ต่างๆ และมีข่าวออกทางสื่อ เท่ากับว่าเป็นการประชาสัมพันธ์สถานที่นั้นๆไปในตัว
ดอยม่อนแจ่มจังหวัดเชียงใหม่ ใครไปเที่ยวในตอนนี้ อาจเห็นว่ายังไม่มีอะไรนักเนื่องจากอยู่ในช่วงกำลังเริ่มต้นโครงการ แต่อีกราว 5-6 ปี ก็คิดว่าจะเป็นที่รู้จักกันมากขึ้น
Chiangmai art in paradise
จากดอยม่อนแจ่มก็เข้าตัวเมืองเชียงใหม่ โดยได้ไปแวะ Chiangmai Art in Paradise หรือสถานที่แสดงภาพวาดแบบ 3 มิติ เช่นเดียวกับที่เมืองพัทยา และที่เชียงใหม่นี่ถือเป็นแห่งที่ 2 ของเมืองไทย มีนักธุรกิจชาวเกาหลีเป็นเจ้าของ
ภาพที่แสดงในสถานที่แห่งนี้ถือว่ามีความสมบูรณ์และใหญ่โตมาก สถานที่แสดงก็เป็นตึกสไตล์โรมัน คล้าย Museum หรือพิพิธภัณฑ์ในต่างประเทศ
ส่วนบัตรเข้าชมราคา 180 บาท แต่เข้าไปดูแล้วถือว่าคุ้มมาก ตื่นตาตื่นใจกับการวาดภาพสีน้ำมันที่วาดทับลงไปในกำแพงหรือผนังคอนกรีต จนดูคล้ายของจริงมาก และเมื่อใครเข้าไปยืนในภาพพร้อมแสดงท่าทางประกอบ ก็อาจสร้างความงุนงงให้กับผู้พบเห็น
ซึ่งทั้งหมดที่เห็นนั้นก็คือภาพลวงตา (Mirage) อาศัยหลักของการมองเห็นหรือการลวงสมอง(ให้ประมวลผลผิดพลาด)
ในแต่ละภาพส่วนใหญ่จะมีคำแนะนำว่าควรทำหรือแสดงท่าทางอย่างไร เพราะหากไม่มีคำแนะนำหรือไม่ได้เห็นตัวอย่างจากคนอื่นๆแล้วก็คงยืนเซ่อทำไม่เป็น โชคดีที่วันนั้นได้เจ้าหน้าที่สาวของ Art Paradise ช่วยอนุเคราะห์พาชม พร้อมกับแสดงท่าทางประกอบภาพอย่างถูกต้องโดยไม่คิดค่าบริการ
ใครเข้ามาเที่ยวที่นี่หรือที่พัทยา ก็แนะนำว่าถ้าจะถ่ายภาพก็ต้องยืนตรงจุดที่เค้ากำหนดให้ ขณะเดียวกันคนถ่ายภาพก็อยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องด้วย ไม่เช่นนั้นก็จะได้ภาพที่ไปเป็น 3 มิติ หรือดูแล้วไม่ตื่นเต้น โดยเฉพาะภาพภูเขาไฟระเบิด ซึ่งหากคนถ่ายภาพยืนผิดตำแหน่ง ภาพลาวาก็อาจไหลแบบเบี้ยวๆบิดๆ ไม่เป็นธรรมชาติ หรือถูกจับผิดได้ว่าเป็นภาพวาด
อีกภาพหนึ่งที่ต้องถ่ายซ้ำหลายภาพก็คือภาพที่น้องเค้าแสดงท่ากำลังยกเท้าถีบผู้ชายที่นั่งเก้าอี้ตัวเล็กๆ
ภาพนี้กว่าจะเข้าใจและลงตัวพอดีก็เล่นเอาจนเหนื่อย เพราะถ่ายหลายครั้ง ต้องย่อตัวลงเพื่อให้มุมกล้องและตำแหน่งของเก้าอี้ทับกันพอดี แต่ภาพที่ถ่ายมาก็ยังไม่เนียนนัก ภาพนี้แปลกและน่าทึ่งมาก หลายคนสงสัยว่าถ่ายกันยังไง ก็ต้องตอบว่ามันเป็นภาพลวงตา หากถ่ายให้ดีๆ วางกล้องให้ตรงตำแหน่งก็จะเห็นเป็นภาพลวงตาที่เหมือนจริง แต่ถ้ายืนไม่ถูกตำแหน่งก็จะไม่เห็น ภาพนี้ลองพิจารณาดูนานๆก็จะเห็นคำตอบเองว่ามันลวงตาเราอย่างไร
ต้องขอขอบคุณน้องปลา เจ้าหน้าที่แผนกต้อนรับของ
Chiangmai Art in Paradise ที่ช่วยเป็นแบบให้
น้องปลาหน้าตาสระสวยทีเดียวนะครับ ผิวออกดำขำ ผิดกับสาวเหนือทั่วไป สอบถามมาแล้วปรากฏว่าเป็นคนปากน้ำ จ.สมุทรปราการนี่เอง แต่ก็ไม่ได้ถามต่อว่าจับผลัดจับผลูมาอยู่เชียงใหม่นี่ได้ยังไง.. ฯลฯ
เนื่องจากไม่อยากได้ยินประโยคที่ว่า"สามีทำงานอยู่เชียงใหม่ค่ะ"
สนใจ ปิ้ง....และอยากได้คำตอบเรื่องห้องหัวใจ ก็ตามไปพบเธอได้ที่เชียงใหม่ บอกได้เลยว่าเธอมีอัธยาศัยดี มีเสน่ห์ และมีเสน่ห์สำหรับผมจริงๆ..ว้าว
ไปละครับ ดูตัวเองจะฝันเฟื่องมากไปแล้ว...
โฟโต้ออนทัวร์
4 มีนาคม 2557
