ดอยแม่สลอง เชียงราย ตอนที่ 2
(เดินทาง มกราคม 2558)
บนดอยแม่สลองประกอบไปด้วยกลุ่มชาติพันธ์หลายกลุ่ม พบมากที่สุดน่าจะเป็นชนเผ่าอาข่า หรือเผ่าอีก้อ สังเกตง่ายๆก็คือจะแต่งชุดดำและมีเครื่องประดับประเภทโลหะมากมาย หรือตั้งแต่ศรีษะจนถึงหน้าแข้ง
ชุดแต่งกายของชาวอาข่ารู้สึกว่าจะมีสีสันสวยงามกว่าเผ่าอื่น รองลงมาก็น่าจะเป็นเผ่าลีซอ ที่พบเห็นส่วนใหญ่จะเป็นเด็กๆที่เดินขายของที่ระลึกประเภทกำไลมือ ขายอันละ 20 -25 บาท หรือแล้วแต่จะต่อรอง
วันนั้นก็ซื้อไปหลายเส้น เป็นการส่งเสริมอาชีพ และต้องการจะสนับสนุนให้เด็กชาวเขาแต่งกายสวยๆตามแบบฉบับของชนเผ่า เพื่อเป็นการอนุรักษ์และทำให้ดูมีสีสัน อย่างน้อยๆก็สะท้อนให้เห็นว่าบนเขาทางแถบนี้ประกอบไปด้วยหลากหลายชาติพันธ์
ส่วนชาวเขาเผ่าอื่นก็จะเป็นเผ่าม้ง นอกจากนี้อาจมีเผ่าอื่นบ้าง แต่เครื่องแต่งกายอาจไม่เด่นชัดจึงดูไม่ออกว่าเป็นเผ่าอะไร

ความจริงเผ่าที่มีการแต่งกายที่หลากหลายรูปแบบน่าจะเป็นเผ่าม้ง บ้านเราอาจจะดูยากหรือไม่ค่อยเห็นการแต่งกายของชาวเผ่าเผ่าม้งที่ประกอบไปด้วยกลุ่มย่อยๆอีกมากมาย แต่ที่เมืองซาปาประเทศเวียดนามจะเห็นชัดเจนว่า ชาวเขาเผ่าม้งเพียงเผ่าเดียว ยังแยกย่อยไปอีกหลายกลุ่มหลายพวก แต่ละกลุ่มก็มีเครื่องแต่งกายที่แตกต่างๆกัน และรวมกลุ่มกันตามพื้นที่ต่างๆ
ชาวเขาเผ่าม้งในเมืองซาปา หลักๆแล้วประกอบด้วย ม้งดำ กับ ม้งแดง การแต่งกายก็แตกต่างกัน
ใครอยากเห็นชาวเขาที่เป็นชาวเขาแท้ๆ และยังรักษาวัฒนธรรมการแต่งกายได้อย่างเหนียวแน่นก็แนะนำให้ไปเที่ยวเมืองซาปา ดินแดนที่อยู่เหนือสุดของเวียดนาม บางช่วงบางปีในฤดูหนาวก็จะมีหิมะตก ไม่ต่างกับประเทศทางแถบยุโรป

สำหรับกลุ่มชาติพันธ์กลุ่มใหญ่บนดอยแม่สลองในปัจจุบัน ก็น่าจะเป็นชาวจีนจากยูนนาน ที่อพยพหนีภัยสงครามมากับกองพล 93 สมัยที่เกิดการต่อสู้ระหว่างกองทัพของนายพลเจียงไคเช็คที่เป็นฝ่ายรัฐบาล กับ พรรคคอมมิวนิสต์ที่เข้ามาปฏิวัติประเทศ หรือที่เรียกว่าเป็นการปฏิวัติทางวัฒนธรรม
เมื่อนายพลเจียงไคเช็คพ่ายแพ้แก่กองทัพปลดแอกของพรรคอมมิวนิสต์ที่มีเหม๋าเจ๋อตุงเป็นหัวหน้า ก็ต้องล่าถอยไปอยู่ที่เกาะใต้หวัน พร้อมกับประกาศไม่ขึ้นกับจีนแผ่นดินใหญ่ เรียกตนเองว่า "จีนคณะชาติ" และมีการปกครองแบบประชาธิไตย โดยสหรัฐอเมริกาให้การสนับสนุน
ส่วนจีนแผ่นดินใหญ่ หลังจากพรรคคอมมิวนิวต์ปกครองประเทศ ก็เข้าสู่ยุคมึดโดยการปิดประเทศ และไม่คบค้าสมาคมกับชาติตะวันตก(ยกเว้นชาติสังคมนิยม) มองชาติตะวันตกที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยเป็นศัตรู เป็นนายทุนที่เอารัดเอาเปรียบกรรมกรและผู้ใช้แรงงาน ดังนั้นจึงต้องกำจัดให้หมดไปจากโลก
แตกต่างกับประเทศจีนที่ปกครองด้วยระบบคอมมิวนิสต์ที่ใช้ระบบการแบ่งปันทรัพยากร ไม่มีระบบนายทุน กิจการของเอกชนตกมาเป็นของรัฐ ทุกคนไม่ว่าจะรวยหรือจนต้องทำงาน ต้องทำนา แล้วนำผลผลิตมาไว้ส่วนกลาง ที่เรียกว่า "คอมมูน"
ส่วนประชาชนจะได้รับการปันส่วนโดยได้รับคูปองให้ไปรับข้าวสาร อาหาร เนื้อสัตว์ตามสัดส่วนของจำนวนสมาชิกในครอบครัว ดังนั้นประชาชนจึงต้องบริหารจัดการกันเอาเอง คูปองใช้หมดก่อนกำหนดก็อดข้าว ไม่มีตลาดให้ซื้อ (ระบบค้าขายแบบตลาดถูกยกเลิกเนื่องจากใครผลิตได้ หาได้ ก็ต้องส่งเข้าคอมมูน)
ที่ผ่านมาหากระบอบคอมมิวนิสต์ปกครองกันเองโดยไม่ไปยุ่งหรือไปรุกรานใครก็คงไม่มีใครว่า แต่นี่เล่นแทรกซึมเข้าไปในประเทศต่างๆ จนเกิดการต่อสู้ และ เกิดสงครามกลางเมือง ทำให้มีผู้เสียชีวิตไปหลายล้านคน ทั้งลาว กัมพูชา และเวียดนาม โดยเฉพาะกัมพูชาตายไปราว 2 ล้านคน และเป็นการฆ่าอย่างโหดเหี้ยมชนิดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในดินแดนอินโดจีน
การปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ทำให้จีนกลายเป็นประเทศที่ยากจน อดอยาก ประชาชนล้มตายจากความอดอยากราว 4 ล้านคน
ในที่สุดระบอบคอมมิวนิสต์ก็ไปไม่รอด
เมื่อพรรคคอมมิวนิสต์แต่งตั้งนาย เติ้ง เสี่ยว ผิง ขึ้นมาเป็นนายกฯ นายเติ้ง เสี่ยวผิง จึงเปลี่ยนนโยบายโดยหันมาค้าขายกับโลกภายนอก เรียกว่า "นโยบายเปิดประเทศ" พร้อมๆกับยุติการสู้รบ และยกเลิกในการให้สนับสนุนกองกำลังในต่างประเทศ (ช่วงนี้มีคนไทยผู้หลงผิดต่างทะยอยกันออกจากป่ามามอบตัวและมอบอาวุธ กลายเป็นผู้พัฒนาชาติไทย โดยรัฐบาลไม่มีการเอาผิด)
ขณะเดียวกันนโยบายของ เติ้ง เสี่ยวผิง ก็ถูกต่อต้านจากผู้บริหารพรรคที่มีความคิดแบบคนหัวเก่า แต่เติ้งก็ต่อสู้จนผลักดันนโยบายของตนได้สำเร็จ โดยใช้การพัฒนาในบางเมืองให้เป็นต้นแบบ และจุงใจให้เกิดผลผลิตที่มากกว่าเดิม เช่นหากผลิตได้มากกว่าที่กำหนด ส่วนเกินก็นำไปขายได้ นโยบายนี้ช่วยกระตุ้นการผลิตในประเทศและสร้างแรงจุงใจในการทำงาน
หลังจากที่สงครามเย็นสงบ จีนก็พัฒนามาตามลำดับ จนก้าวมาเป็นประเทศที่มีความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจจนถึงทุกวันนี้
ชาวจีนยูนนานบนดอยแม่สลองที่อพยพมาพร้อมกับกองพล 93 ก็ได้รับผลกระทบจากการปฏิวัติทางวัฒนธรรมในประเทศจีนในยุคต้นๆ และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การค้าขายเฮโรอินทางแถมสามเหลี่ยมทองคำมีความเจริญรุ่งเรือง จนกลายเป็นแหล่งผลิตและแหล่งค้าระดับโลก หลังจากนั้นการปลูกฝิ่นบนดอยทางแถบนี้ได้ลดจำนวนลง มีการนำชาพันธ์ดีจากไต้หวันมาปลูกบนดอยแม่สลองจนกลายเป็นไร่ชาที่มีชื่อของเมืองไทยในเวลานี้
ตอนต่อไปจะพาไปพบกับไร่ชาที่มีชื่อบนดอยแม่สลอง ชนิดที่ใครมาก็พลาดไม่ได้ เนื่องจากเป็นไร่ชาที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ และเป็นชาที่มีคุณภาพ
โฟโต้ออนทัวร์
11 มิถุนายน 2558
การเดินทางในทริปนี้
ขาไป
ใช้บริการ Nok Air จากดอนเมือง – สนามบินเชียงราย ต่อด้วย taxi ไปยังท่ารถ(เก่า)เชียงราย แล้วนั่งรถเมล์ท่องถิ่นสาย แม่สาย-เชียงราย(หรือรถตู้) ไปลงที่ อ.แม่จัน บอกกระเป๋าให้จอดตรงปากทางขึ้นดอยแม่สลอง แล้วนั่งสองแถวจากปากทางไปจนถึงบนดอย
ระหว่างอยู่บนดอยใช้บริการมอเตอร์ไซด์ขับจ้าง ขับพาไปเที่ยวที่นั่นที่นี่ ราคาก็แล้วแต่ตกลง(แต่ค่อนข้างแพง)
การเดินทางไปดอยแม่สลองตอนขาไปมีทางเลือก 2 เส้นทาง
ทางเลือกที่ 1 นั่งรถบัสจากท่ารถ(เก่า)เชียงรายไปลงที่แม่จันโดยใช้บริการรถ เชียงราย-แม่สาย บอกกระเป๋ารถให้จอดที่หน้าปากทางขึ้นดอยแม่สลอง(ใกล้ปั้มน้ำมัน) จากนั้นก็ใช้บริการรถสองแถวที่จอดรอผู้โดยสารตรงปากทางขึ้นดอย(แต่มีน้อยคัน)
หากเป็นวันหยุดจะมีผู้โดยสารมาก เต็มเร็ว ออกเร็ว ส่วนวันธรรมดา คนน้อย รอนาน อาจต้องเหมา หรือตกลงกับผู้โดยสารอื่นว่าจะช่วยกันแชร์ (เหมา 5-600 บาท) เส้นทางนี้ ถนนชำรุดบางช่วง ถนนค่อนข้างชัน แต่ระยะทางสั้นกว่าทางเลือกที่ 2
ทางเลือกที่ 2 นั่งรถบัสจากท่ารถเก่าเชียงรายไปลงที่ท่ารถแม่จัน(ท่ารถเล็กๆ ดูคล้ายป้ายรถเมล์ กทม.) แล้วต่อด้วยรถสองแถวประจำทาง แม่จัน-ดอยแม่สลอง ่เส้นทางนี้จะไกลกว่าเส้นทางแรกเกือบเท่าตัว แต่ข้อดีก็คือถนนดี เรียบ ไม่ชัน มีจุดจอดหรือท่ารถก็บริเวณตลาด(ตลาดซ็อป/ตลาดชา ของนักท่องเที่ยว)
ขากลับ(จากดอย)
นั่งสองแถวจากท่ารถอยู่ที่ตลาดดอยแม่สลอง (หรือตรงหลักกิโลขนาดใหญ่) มาที่ท่ารถแม่จัน เมื่อสองแถวพามาจอดที่ท่ารถแม่จันแล้วก็ต้องรอรถประจำทาง แม่สาย-เชียงราย เข้าตัวเมืองเชียงราย(ท่ารถเก่า)
มาถึงเชียงรายแล้ว หากมีเวลาก็อาจเที่ยวต่อที่เชียงราย ซึ่งมีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจได้แกวัดร่องขุน และบ้านดำ ของ อ.ถวัลย์ ดัชนี
รถทัวร์ เชียงราย – กรุงเทพ ปกติจะออกจากเชียงรายตอนประมาณ 5-6 โมงเย็น ถึงกรุงเทพราวตี 5 ตอนขากลับจำได้ว่า รถวิ่งรวดเดียวโดยไม่จอดที่ใดๆ (VIP)
หมายเหตุ : ท่ารถเก่าหมายถึงท่ารถเดิมที่ปัจจุบันใช้เป็นท่ารถสำหรับเดินทางไปอำเภอต่างๆ(ตามภาพที่เห็น)
ส่วนท่ารถใหม่ที่อยู่นอกเมือง(ราว7-8 กม) จะเป็นท่ารถทัวร์เดินทางออกนอกจังหวัด หรือไปกรุงเทพ
ทางเลือกอื่น...
เครื่อง+รถเช่า
นั่งเครื่องจากดอนเมืองแล้วไปหารถเช่าที่เชียงราย โดยติดต่อล่วงหน้าให้เอารถมาส่งมอบที่สนามบิน(จะได้ประหยัดเวลาและค่าแท๊กซี่เข้าเมือง) ได้รถแล้วก็ขับเที่ยวได้เลย ไม่ว่าจะเป็นดอยแม่สลอง ภูชี้ฟ้า ชายแดนแม่สาย ฯลฯ
ขากลับ(หากกลับเครื่อง)ก็ส่งรถเช่าที่สนามบิน ปกติจะมี Flight ตอนเช้าๆ หรือบ่าย (แล้วแต่สายการบิน)
หากกลับรถทัวร์ก็นัดแนะส่งรถท่ารถทัวร์(ท่ารถใหม่ที่อยู่นอกเมืองราว 7-8 กม.รถออกประมาณ 5 โมงเย็น)
ที่สำคัญมาเที่ยวเชียงรายก็อย่าลืมขนมจีนน้ำเงี้ยวเชียงราย เรียกมาว่าถึงถิ่น แต่ไม่กิน ไม่ชิม ก็น่าเสียดายทีเดียว รับประกันอร่อยทุกร้าน โดยไม่ต้องไปเสาะแสวงหาที่ไหน ขนาดร้านชาวบ้านๆที่ท่ารถทัวร์(เก่า)ก็อร่อยระดับ 4-5 ดาวแล้วละครับ
|