Songkla Tourism : ภาพท่องเที่ยว อ.สงขลา-อ.หาดใหญ่
หาดสมิหลา-ตลาดเกาะหมี
(เดินทาง 9 - 12 สิงหาคม 2557)
ครั้งก่อนได้เสนอภาพท่องเที่ยวเกาะภูเก็ต เป็นการรวมภาพจากหลายๆแห่งที่มีโอกาสไปเยือนเมื่อเดือนสิงหาคมปี 57 เมื่อนานๆจะมาสักครั้งก็ต้องออกตระเวณไปตามที่ต่างๆว่าแต่ละแห่ง “เปี้ยนไป“อย่างไรบ้าง
วันแรกตั้งใจจะไปแถวสะพานสารสินที่ออกไปทางสนามบิน ที่ตั้งใจไปก็เนื่องจากเห็นว่าน่าจะเป็นจุดสวยงามในยามเย็นหรือช่วงพระอาทิตย์ตก แต่ระยะทางค่อนข้างไกลหรือ 45 กม.จากตัวเมืองภูเก็ต
วันนั้นมีคนแนะนำให้ใช้ทางเลี่ยงเมืองเนื่องจากเป็นเส้นทางลัด แต่พอขับรถออกจากบ้านพักก็เจอปัญหาทันที คือ"รถติด"ตอนนั้นก็ยังคิดว่าวันนี้เป็นวันอาทิตย์ จึงเป็นเรื่องปกติสำหรับเมืองท่องเที่ยว
ที่สี่แยกหน้าโรงเรียนดาราสมุทรกำลังสร้างอุโมงครถยนต์์ลอดทางแยกเพื่อลดปัญหาการจราจร เช่นเดียวกับการสร้างอุโมงค์ในกรุงเทพฯและในจังหวัดใหญ่ๆเช่นเชียงใหม่ ได้ยินว่าเป็นอุโมงค์แห่งแรกของภูเก็ตที่เชื่อมระหว่างถนนเจ้าฟ้าตะวันตก กับ ถนนเฉลิมพระเกียรติฯ หรือ ถนนบายพาสต์ซึ่งเป็นทางลัดออกไปนอกเมือง
พ้นทางแยกที่กำลังสร้างอุโมงค์มาได้ไม่ไกลก็เจอกับปัญหาใหม่ คือทางเลี่ยงเมืองหรือถนนเฉลิมพระเกียรติกำลังมีการขยายผิวการจราจร คราวนี้ติดนานมาก จะไปทางไหนก็ไม่ได้
เมื่อเห็นว่ารถติดนานเกินไปและคิดว่าอาจไปถึงสะพานสารสินจนมืดค่ำ จึงเปลี่ยนแผนไปหาดป่าตองแทน ที่เปลี่ยนใจก็เพราะเห็นป้ายใหญ่อยู่ข้างหน้า
จากนั้นจึงเลี้ยวซ้ายไปตามป้ายบอกทางตรงจุดที่รถติด ส่วนสะพานสารสินคิดว่าเปลี่ยนเป็นวันอื่นก็แล้วกัน
เมื่อออกซ้ายมาแล้วการจราจรรู้สึกจะคล่องตัวดี ถนนโล่ง สองข้างทางมีอาคารพาณิชย์หรือตึกแถวที่พึ่งสร้างเสร็จใหม่ๆ บางช่วงมีที่ดินว่างเปล่าค่อนข้างเป็นบริเวณกว้าง บางแห่งมีดงมะพร้าวแบบภูเก็ตสมัยดั่งเดิมด้วย
แสดงว่าบนเกาะภูเก็ตยังมีที่ดินว่างเปล่าอีกมากที่สามารถรองรับการขยายตัวของเมืองได้
ครั้นขับรถมาไม่นานก็เจอสี่แยกที่ไม่มีป้ายบอกทาง คราวนี้ละยุ่งเลย ป่าตองไปทางไหนดี ขณะที่รถติดไฟแดงก็เล็งว่าน่าจะเลี้ยวขวา พอไฟเขียวก็เลี้ยวไปแบบไม่มั่นใจ
แต่พอขับผ่านไปสักพักรู้สึกว่ารถราค่อยๆน้อยลงจนผิดสังเกต จึงต้องสอบถามชาวบ้าน ปรากฏว่ามาผิดทาง ชาวบ้านบอกเป็นทางไปสนามกอล์ฟ
จากนั้นก็ไปแบบผิดๆถูกๆอีกสองครั้งจนไปถึงป่าตอง สรุปว่าเสียเวลาไปหลายนาที ทีแรกหวังพึ่งแผนที่จาก Google maps บนมือถือ แต่พึ่งไม่ได้ เพราะมันพาหลงเข้าป่าเข้ารก เช่นพาเข้าทางตัน มันน่าโมโหชนิดที่ต้องสบถคำด่าให้กับมัน
ความจริงเรื่องนี้ถ้าให้ชัวร์ ก็คงหนีไม่พ้นแผนที่ของกรมทางหลวง แต่มาคราวนี้ไม่ได้พกมาด้วย เพราะค่อนข้างมั่นใจเนื่องจากเคยมาเที่ยวภูเก็ตหลายครั้งแล้ว (แต่บางครั้งก็มีคนนำทางให้)
ใครหวังพึ่ง Google maps จากสมาร์ทโฟน หรือมี GPS ของ Garmin สำหรับติดรถยนต์ก็อย่าได้ไว้ใจนัก โดยเฉพาะ GPS - Garmin ที่มีเรื่องให้ขำกลิ้งอยู่บ่อยๆในเรื่องบอกผิดบอกถูก แถมบางครั้งยังอ่านชื่อถนนผิดชนิดที่ฮากลิ้งกันมาแล้ว เครื่องมันบอกชื่อถนนผิดก็ไม่ต่างกับคำว่า"คอนกรีต" ที่่อดีตนายกฯยิ่งลักษณ์พูดว่า คอ-นก-รีต นั่นแหละ
GPS ยี่ห้อ Garmin ที่เคยเอามาติดรถเมื่อปีที่แล้ว ปรากฎว่าเครื่องมันบอกให้เลี้ยวขวาบนสะพานข้ามทางแยกเฉยเลย หรือเครื่องมันเข้าใจว่าเป็นสี่แยกปกติ โดยไม่มีข้อมูลเรื่องสะพานข้ามทางแยกเข้าไปอัพเดตข้อมูลในระบบ แต่คิดว่าปัจจุบันน่าจะพัฒนาให้ฉลาดขึ้นกว่ารุ่นก่อนๆเรียบร้อยแล้ว ได้ยินว่าพอถึงจุดแยกก็จะคอยเตือนเราให้เข้าถูกช่องทางก่อนจะเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวาหรือยูเทิร์นกลับรถที่เป็นรูปเกือกม้า ตรงนี้ถือว่าเยี่ยมมาก
สรุปว่าปัญหาที่พบในการขับรถท่องเที่ยวเมืองภูเก็ตก็คือ ตามจุดแยกส่วนใหญ่ไม่มีป้ายบอกทาง คนที่นานๆมาทีก็มืดแปดด้าน แต่โชคดีที่วันนั้นได้ดั้นด้นจนถึงจุดหมายปลายทาง
ปัญหานี้ไม่ใช่เฉพาะที่ภูเก็ตเท่านั้น จะบอกว่าเป็นปัญหาทั้งประเทศเลยก็ว่าได้ เมืองไทยเป็นเมืองท่องเที่ยวแต่สิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานเช่นป้ายบอกทางตามจุดแยกต่างๆกลับไม่มีใครสนใจที่จะทำให้มันดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นปักษ์เหนือหรือปักษ์ใต้ก็พาหลงมาเกือบทุกที่ เรียกว่าต้องลงจากรถไปสอบถามชาวบ้านอยู่เป็นประจำ
หลายครั้งที่เจอปัญหาจนน่าโมโห เช่นก่อนเข้าเมืองพิษณุโลกก็มีป้ายบอก ตัวอย่างเช่น "วัดใหญ่ หลวงพ่อชินราช"
แต่พอเข้าปรากฏว่าทางแยกข้างหน้า ไม่บอกเลยว่า(จะให้กรู)ไปทางไหนดี หรืออีกทีก็ล่าสุดที่จังหวัดชุมพร ปรากฏว่าเข้าได้ แต่ออกไม่ได้ เนื่องจากจุดแยกต่างๆไม่มีป้ายบอกว่า"สุราษฏร์ หรือ กรุงเทพฯ" ไปทางไหน ก็ต้องสอบถามชาวบ้านตามระเบียบ ทั้งๆที่คนในรถก็ช่วยกันถ่างตาหาป้ายบอกทางไปสุราษฏร์
อย่าลืมว่าแต่ละเมืองแต่ละจังหวัดก็ต้องขยายเมืองและมีถนนสายใหม่ๆเกิดขึ้นมากมาย หน่วยงานเช่นการท่องเที่ยวหรือ ททท.ประจำแต่ละจังหวัด ทำไมจึงไม่ประสานงานกับเทศบาลหรือกรมทางหลวงให้ทำเสียให้เรียบร้อย หรือเทศบาลของจังหวัดที่รับผิดชอบโดยตรงทำไมจึงไม่ใส่ใจในเรื่องนี้
ตัวอย่างดีๆก็มีนะครับ เช่นจังหวัดชียงใหม่ ถือว่าเป็นจังหวัดตัวอย่าง ป้ายใหญ่ๆโตตามจุดแยกบอกไว้ชัดเจน ไม่หลงนะครับทั้งๆที่เป็นเมืองใหญ่
การปฏิรูปหาดภูเก็ตเมื่อเดือนสิงหาคม 57
ตามที่เขียนไว้ในตอนที่แล้วว่า คสช.โดยทหารจากค่ายในภูเก็ต ปฏิบัติการล้างบางพวกที่ทำผิดกฎหมายตามชายหาด โดยเฉพาะหาดป่าตอง รวมทั้งกวาดล้างเจ้าพ่อที่ยึดพื้นที่ตามแหล่งท่องเที่ยวมาเป็นที่ส่วนตัว เช่นกลุ่มแท็กซี่มาเฟียหรือสหกรณ์แท็กซี่เถื่้อนที่สร้างปัญหามานาน
ปรากฏว่าหลังกลับมาถึงกรุงเทพฯได้ไม่กี่วัน ประธานคสช.โดยพลเอกประยุทธฯได้กล่าวถึงเรื่องนี้ ในรายการคืนความสุขให้กับประชาชนในคืนวันศุกร์(22สค.นาทีที่40) ว่าได้มีการเคลียร์พื้นที่ ทำให้หาดป่าตองสวยงามกว่าเก่า แสดงว่าการกวาดล้างที่ภูเก็ตเป็นเรื่องสำคัญ และคิดว่าน่าจะกวาดล้างในจังหวัดอื่นๆที่มีแหล่งท่องเที่ยวตามชายหาดด้วย
คนทั่วไปที่ฟังพลเอกประยุทธฯ พูดในรายการฯคืนนั้นอาจไม่ได้สะกิดใจอะไรเนื่องจากเป็นเรื่องไกลตัว แต่คนภูเก็ตฟังแล้วสะใจมาก โดยเฉพาะพวกหัวหน้าอบต.อ.ป่าตองในอดีตบางคนที่กำลังโดนไล่ล่าอยู่ในขณะนี้ คนภูเก็ตบอกว่าพวกนี้เหิมเกริมมาก โดยเฉพาะกลุ่มแท็กซี่ตามหน้าโรงแรมในเขตป่าตอง
เช่นแขกจะออกจากโรงแรมก็จะต้องใช้บริการจากแก๊งค์แท็กซี่หน้าโรงแรมเท่านั้น ใครเรียกแท็กซี่จากที่อื่นให้มารับ ก็จะต้องจ่ายค่าหัวให้พวกมันครั้งละ 300 บาท โดยพวกนี้จะคุมพื้นที่อยู่ตามหน้าโรงแรม ที่ผ่านมาบรรดาเจ้าหน้าที่โรงแรม และกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวที่เรียกแท็กซี่จากที่อื่นให้มารับลูกค้าของตนเอง ต้องจำใจยอมจ่ายให้กับแก๊งค์นี้ทุกครั้ง
พวกนี้มันเหมือนกับตั้งธุรกิจเถื่อนขึ้นมาคุมพื้นที่ เอารถแท็กซี่มาเข้าสังกัดของตัวเอง เช่นเดียวกับตั้งวินมอเตอร์ไซด์ทั่วไป ใครจะเข้าร่วมก็ต้องจ่ายค่าหัวคิว (หลักแสนนะครับ) กิจการนี้พัฒนาไปถึงขั้นออกใบเสร็จให้กับธุรกิจโรงแรมหรือบริษัทท่องเที่ยวอื่นๆไว้เป็นหลักฐานด้วย
เรื่องนี้ตำรวจเค้าสืบกันมานาน และที่ตามสืบก็เนื่องจากมีคำสั่งจากคสช.(ไม่มีคำสั่งตำรวจก็คงไม่ทำ เพราะไม่ไช่เรื่องของกรู) เมื่อตำรวจสืบกันจริงๆก็เรียบร้อยสิครับใบเสร็จที่ออกให้นั่นไงที่เป็นหลักฐานมัดตัว เรื่องนี้พวกโรงแรมกับบริษัทท่องเที่ยวต่างก็ให้ความร่วมมือกับตำรวจ และยังเดินทางไปขึ้นศาลเพื่อยืนยันว่าใบเสร็จเหล่านั้นออกโดยพวกแก็งค์มาเฟียที่ตั้งสหกรณ์แท็กซี่เถื่อนขึ้นมาหากิน
แต่ตอนนี้จบแล้วครับ พวกทหารกับตำรวจ เข้ามาเคลียร์ปัญหาจนมาเฟียแท็กซี่กระเจิงกันหมดแล้ว ตำรวจไล่ล่า ทหารไล่จับ โอ้ย...สะใจจริงๆ ส่วนใครที่กำลังหลบหนีคดี ก็น่าจะมามอบตัวเพื่อรับบาปและชดใช้กรรมให้มันถูกต้องซะ บาปจะได้ไม่ติดตัวไปตลอดชาติ
สำหรับภาพในชุดที่ 2 นี้ เป็นภาพจากจังหวัดสงขลาและหาดใหญ่
พอดีมีญาติอยู่ที่หาดใหญ่ ตอนขากลับจากภูเก็ตจึงต้องแวะไปเยี่ยมแต่ก็ไม่มีเวลามากนัก ได้ออกไปถ่ายภาพบ้างนิดหน่อย
จังหวัดสงขลา จากความรู้สึกที่ได้มาครั้งก่อนกับครั้งนี้รู้สึกว่าเป็นเมืองที่ค่อนข้างสงบ และโชคดีที่ตัวเมืองอยู่ติดดับชายหาด ซึ่งหาได้ยากในจังหวัดอื่นๆ ที่จำได้ก็มีที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์เท่านั้น แต่ที่สงขลาหรือที่หาดสมิหลาน้ำทะเลสะอาดกว่าที่ประจวบเยอะ
สงขลาในอดีต
เพียงแค่เห็นประภาคารบนยอดเขาตังกวนที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 ก็เข้าใจทันทีว่า สงขลาเคยเป็นเมืองท่าสำคัญมาก่อน หากดูจากแผนที่แล้วจะเห็นว่าจังหวัดสงขลาอยู่ในพื้นที่ของแหลมมลายู หรือคาบสมุทรมะลายูที่มีชายแดนติดต่อกับประเทศมาเลเซีย
(คลิกที่ภาพเพื่อดูภาพขยาย)
สมัยก่อนเมืองสงขลามีเรือสินค้าที่ทำมาค้าขายและแลกเปลี่ยนสินค้ากันที่ "ท่าสิงคโปร์" กับ"ท่ามะละกา" ของมาเลเซียเป็นหลัก(สมัยก่อนสิงคโปร์เป็นส่วนหนึ่งของมาเลเซีย)
ขณะเดียวกันท่าสิงคโปร์กับท่ามะละกาก็ยังเป็นจุดเชื่อมการค้าระหว่างยุโรป กับ เอเชีย มาจนถึงทุกวันนี้ ปัจจุบันเมืองมะละกาได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกไปเรียบร้อยแล้ว ใครไปเที่ยวมาเลเซียทางรถยนต์ก็มีโอกาสแวะ
สมัยประวัติศาสตร์ พวกชนชาติอาหรับจากอ่าวเปอร์เซียหรือประเทศทางตะวันออกกลางที่อยู่ทางตอนใต้ ได้เข้ามามีอิทธิพลเหนือแหลมมลายู รวมไปถึงหมู่เกาะสุมาตรา(ประเทศอินโดนีเซียในปัจจุบัน)
ชาติอาหรับถือว่าเป็นชาติแรกที่เข้ามายึดเมืองสำคัญๆ เช่นเมืองมะละกา ซึ่งเมืองนี้ยังถือเป็นจุดเริ่มต้นประวัติศาสตร์ของประเทศมาเลเซีย และเป็นจุดเริ่มต้นของชุมชนอิสลามทางแถบนี้ รวมทั้งการปกครองแบบสุลต่าน
การเข้ามาของชาติอาหรับก็เพื่อเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จาก"เครื่องเทศ" ซึ่งเป็นทรัพยากรสำคัญของหมู่เกาะชวา(อินโดนีเซีย) บางเกาะมีแต่เครื่องเทศล้วนๆเช่นหมู่เกาะ "โมลุกกะ" ในดินแดนที่เป็นภูเขาไฟเก่า
หลังจากถึงยุคเสื่อมของชาติอาหรับ ก็มีชาติตะวันตกเช่นโปรตุเกส อังกฤษได้เข้ามายึดครองหัวเมืองต่างๆทางแถบนี้ในเวลาต่อมา เข้าใจง่ายๆก็คือว่าการล่าอาณานิคมของชาติอาหรับ กับชาติตะวันตกเช่นโปรตุเกสและอังกฤษนั้น ถือว่าเป็นคนละยุค คนละสมัยกัน
หากจะเปรียบเทียบก็ประมาณว่าแขกอาหรับเปอร์เซียเข้ามาในยุคที่อาณาจักรขอมรุ่งเรืองเมื่อราว 800-900 ปีหรือมากกว่านั้น ส่วนนักล่าอาณานิคมชาติตะวันตกเข้ามาในยุคปลายกรุงศรีอยุธยาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์หรือเมื่อประมาณ 4-500 ปี
และการที่ประเทศต่างๆทางแถบมลายเช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย บรูไน รวมทั้งหัวเมืองภาคใต้ของไทย ส่วนใหญ่จะนับถือศาสนาอิสลาม ก็เนื่องจากได้รับอิทธิพลของอาหรับเปอร์เซียเมื่อหลายร้อยปีก่อน
ดังนั้นจึงไม่แปลกใจที่จังหวัดสงขลาซึ่งสมัยก่อนถือว่าเป็นหัวเมืองสำคัญของแหลมมลายู จึงมีผู้นับถือศาสนาอิสลามค่อนข้างมาก รวมทั้งมีสุเหร่าหลายแห่ง บางหมู่บ้านก็แถบจะเรียกว่ามีแต่มุสลิมล้วนๆ
หลักฐานทางวัฒนธรรมในยุคอาหรับเปอร์เซียที่ตกทอดมาถึงเมืองสงขลาและจังหวัดทางภาคใต้ของไทยก็คือ “ศาสนาอิสลาม” ส่วนสิ่งปลูกสร้างเก่าแก่เช่นป้อมปืนโบราณที่บ้านทรายแหลมนั้น สร้างในสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งเป็นช่วงแรกๆของการล่าอาณานิคมของอังกฤษ กับฝรั่งเศส
มาเที่ยวสงขลา 2 ครั้ง ก็ยังไม่เบื่อครับ
หากมีโอกาสก็จะมาอีก เนื่องจากยังเห็นเมืองสงขลายังไม่ทั่วถึงนัก คิดว่ายังมีสิ่งที่น่าสนใจอีกมากมาย ใครคิดจะมาเที่ยวสงขลาก็แนะนำว่าต้องซอกแซกหน่อย ทำตัวง่ายๆ สบายๆ แวะโน่น แวะนี่ ไปเรื่อยๆ แล้วก็จะเห็นว่าบรรยากาศที่เมืองนี้ดีจริงๆ มีหาดทราย มีทะเล มีทะเลสาบ มีแหล่งประมง และยังมีสถานที่ชมพระอาทิตย์ตกที่สวยงาม
มาครั้งนี้ก็ไม่ได้มีโปรแกรมอะไรนัก แถมมีฝนเป็นอุปสรรคด้วย แต่ก็น่าเสียดายที่พอลงไปเดินเล่นที่หาดสมิหลาได้ไม่นาน ลมก็มา ฝนก็ไล่ ชนิดที่ตั้งตัวไม่ติด ฝุ่นทรายฟุ้งกระจายจนต้องปิดหน้าปิดตาแล้วรีบขึ้นรถเพื่อเดินทางไปยังเกาะยอที่อยู่ห่างจากหาดสมิหลาราว 5 กม.
สำหรับตอนต่อไปซึ่งเป็นตอนสุดท้าย จะมีภาพพระอาทิตย์ตกที่เกาะยอ ที่ขณะนี้ได้ยินว่าทางการกำลังจัดระเบียบผู้ที่ทำประมงในทะเลสาบสงขลา รวมทั้งเข้าไปจัดการบ้านพักโฮมเสตย์ที่ไปสร้างไว้กลางทะเลสาบสงขลา
งานนี้ก็ต้องให้กำลังใจทหารและเจ้าหน้าที่ ที่ดำเนินการกับผู้บุกรุกที่สาธารณะ หากไม่ทำตอนนี้ก็ไม่ทราบว่าจะเข้าไปจัดการกันเมื่อไหร่
โฟโต้ออนทัวร์
9 กันยายน 2557
|